อย่างไร “ทีวีดิจิทัลก็ต้องตาย” เพียงแต่จะตายเร็วหรือตายช้า

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยภายในงาน เอ็นบีทีซี พับบลิค ฟอรัม: ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารหอประชุม กสทช. ว่า อย่างไรทีวีดิจิทัลก็ต้องตาย เพียงแต่จะตายเร็วหรือตายช้าเท่านั้น จากตัวเลขปัจจุบัน ที่แม้จะมีผู้รับชมทีวีดิจิทัล อยู่ที่ 55% แต่แนวโน้มในอนาคต คาดว่า ตัวเลขจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีเข้าไปสู่ 5G อย่างแท้จริง ในอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า ตัวเลขผู้รับชมที่จะไปสู่กิจการโอทีที หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็จะเพิ่มมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ หากสังเกตพฤติกรรมผู้รับชมในปัจจุบัน อาทิ คนรุ่นใหม่ในระดับนักศึกษา หรือรุ่นลูกเป็นต้นไป พบว่า แทบจะไม่ค่อยได้รับชมทีวีมากเท่านัก หรือหากรับชมก็จะรับชมผ่านช่องทางอื่นๆ แทน

นายมานะ กล่าวว่า ในกรณีคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ นั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งมีความปะปนกันอยู่ คือ ส่วนของทีวีดิจิทัล และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในสภาพของการนำทั้ง 2 ส่วนมารวมกัน ทำให้มีสภาพคล้ายกับเมืองในหมอก หรือเมืองในฝุ่น และไม่ว่า ตัวเลขหรือข้อมูลใดๆ ก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร โดยสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมา มีการตั้งคำถามว่า เรื่องนี้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ หรือเสียผลประโยชน์ ขณะที่ ในกลุ่มต่างๆ ก็ตั้งคำถามว่าตกลงแล้วใครได้หรือใครเสียผลประโยชน์ จากเรื่องนี้ 

“กรณีล่าสุด ที่ กสทช. จะใช้กองทุนที่เปรียบเสมือนธนาคารปล่อยกู้ให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เสมือนเป็นการเร่งรัดให้มีการจัดการประมูลโดยเร็ว เพื่อนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้บริการ 5G ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) มีการส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า การดำเนินการนี้มีความรวดเร็วเกินไป  ซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่แน่ใจว่า การที่โอเปอเรเตอร์พูดนั้น เพียงเพราะต้องการให้ราคาต้นทุนลดต่ำลงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ทำให้เห็นว่า กสทช. มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเร่งรัดในเรื่องนี้” นายมานะ กล่าว

นายมานะ กล่าวว่า หากเงินในกองทุนมีจำนวนมากขนาดนั้น ควรนำมาพัฒนาคอนเทนท์ หรือนำมาใช้สำหรับการตรวจสอบคอนเทนท์ของทีวีดิจิทัล ให้ดียิ่งขึ้นจะดีกว่าหรือไม่ ทั้งเรื่องการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า กสทช. น่าจะคิดให้รอบคอบ รอบด้านมากกว่านี้ ทั้งนี้ ส่วนตัวยังสับสนว่า เมื่อมีการปรับเปลี่ยน โยกย้ายคลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัลแล้ว ผู้บริโภคต้องทำอย่างไร จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์อะไรหรือไม่ รวมถึงจะสามารถรับชมได้คมชัดเหมือนเดิมหรือไม่ และเนื้อหาที่ได้รับจะดีขึ้น มีคุณภาพขึ้นหรือไม่ ซึ่งปัญหาในการรับชมเหล่านี้ยังคงมีอยู่จำนวนมาก

Advertisement
งาน เอ็นบีทีซี พับบลิค ฟอรัม: ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค

สำหรับการอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลืออยู่ ในส่วนของรัฐ โดยภาพรวมแน่นอนว่า สูญเสียเงินจำนวนหนึ่งไป หรือหากจ่ายล่าช้า อย่างน้อยก็ยังได้รับเงิน แต่หากต้องมีการจ่ายเงินชดเชยกลับไปให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลด้วย นั่นหมายความว่า ต้องนำเงินที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปชดเชยให้ ซึ่งจะมั่นใจได้อย่างไรว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประมูล จะเพียงพอ

ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และในกิจการโทรคมนาคม จะได้รับผลประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งโอเปอเรเตอร์แต่ละค่ายต้องประเมินว่า เมื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่แล้ว ในช่วง 2-3 ปีจากนี้ จะต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับกิจการทีวีดิจิทัลหรือไม่ ซึ่งหากมีการประมูลในราคาที่สูงจนเกินไป เมื่อเทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยน รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จะได้รับผลที่คุ้มค่าหรือไม่

ขณะที่ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเองก็คิดหนักว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้เลย ก็คือ กสทช. ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ กสทช. ได้ดำเนินการช่วงที่ผ่านมา ทั้งในส่วนที่มีการดำเนินการฟ้องร้องกันอยู่ หรือในส่วนของการแจกกล่องแจกคูปอง ที่ไม่ครอบคลุมครบถ้วน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่สอดรับกับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่ส่งผลให้ผู้รับชมลดน้อยลง รวมถึงรายได้ ที่เคยประเมินไว้ว่า จะได้ก็ไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่ง กสทช. จะปัดภาระไม่ได้

ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตสำหรับกิจการทีวีดิจิทัล โดยส่วนตัวมีความเห็นด้วย รวมถึงยังมีเรื่องที่ กสทช. ยังไม่ได้ให้ความสนใจ คือ ส่วนของทีวีสาธารณะและทีวีชุมชน หรือส่วนคลื่นความถี่ที่เป็นของชุมชน ที่ กสทช. อาจลืมไปว่า ยังมีหน้าที่ในส่วนนี้ที่ต้องดูแล ซึ่งที่ผ่านมา มักไม่พูดถึง นอกจากนี้ กสทช. ควรเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการดำเนินการ เพื่อทุกภาคส่วนได้รับผลประโยชน์

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image