การเรียกคืน-ประมูลคลื่น 700 MHz เป็นฝุ่น PM 2.5 ไปแล้ว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยภายในงาน เอ็นบีทีซี พับบลิค ฟอรัม: ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารหอประชุม กสทช. ว่า กรณีการนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันใช้ในกิจการทีวีทัล ออกประมูลเพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคม สำหรับรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีความคล้ายคลึงกันฝุ่นละออง PM 2.5 ตรงที่มีความขมุกขมัว และไม่สามารถทราบได้ว่า ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยมุมมองที่ผู้บริโภคต้องการ คือ การดำเนินการที่มีความตรงไปตรงมา และโปร่งใส

นางสาวสารี กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือกิจการทีวีดิจิทัล เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีความขัดข้อง และที่ผ่านมากิจการทีวีดิจิทัลก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นในครั้งนี้ หากจะมีการช่วยเหลืออย่างไร ก็ควรที่จะมีความชัดเจน และอยู่บนพื้นฐานที่ผู้บริโภคจะต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงมีการอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจด้วย เช่น ทางเทคนิค การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือย้ายคลื่นความถี่ จะดำเนินการอย่างไร รวมถึงผู้บริโภคจะต้องเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณใหม่หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจน และผลส่วนใหญ่ที่ตามมาก็คือ ภาระต่างๆ ตกเป็นของผู้บริโภค

“กสทช. นำเรื่องการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ผูกติดกันไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ หากการประมูลคลื่นความถี่เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล แล้วจะอย่างไร และจากประเมินในภาพรวมของฝั่งกิจการโทรคมนาคม ก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาประมูล ซึ่งหากเกิดการประมูลได้ ก็คาดว่า จะเกิดในลักษณะการต่อรองราคา ทั้งในส่วนค่าใบอนุญาตระบบ 4G เดิม ที่ยังค้างชำระ รวมไปถึง ค่าใบอนุญาตสำหรับคลื่นความถี่รองรับ 5G ก็จะมีราคาถูกลง ฉะนั้น เราจึงอาจจะยังไม่มีความพร้อมในการก้าวไปสู่ 5G” นางสาวสารี กล่าว

นางสาวสารี กล่าวว่า กสทช.ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่คำนึงถึงผู้บริโภคด้วย โดยหากมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ด้านผู้บริโภค ก็คาดหวังว่า คุณภาพด้านเนื้อหาของทีวีดิจิทัลจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีเนื้อหาที่เป็นไปในทิศทางขายของ ทั้งนี้ หากจะให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูก กสทช. จะต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้กำกับดูแลพึ่งดำเนินการ

Advertisement

“ปัจจุบันทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับการโฆษณา ซึ่งไม่สอดคล้องกับการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งนี้ เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว ทีวีดิจิทัลต้องเปลี่ยนแปลง ต้องเข้มแข็งในแง่ของการแข่งขันด้านเนื้อหาที่มีคุณภาพ ผลิตเนื้อหาที่สอดรับกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อเนื้อหามีความเข้มแข็ง แน่นด้วยคุณภาพ เชื่อว่า อย่างไร ทีวีดิจิทัลก็อยู่รอดได้” นางสาวสารี กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image