อีคอมเมิร์ซไทยโตไม่หยุด “ปณท.” ไม่หวั่น ดึงนวัตกรรมล้ำสุดช่วยรับมือ

นายสันติ หาญสุขยงค์ หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานไปรษณีย์เขต 2 จ.ชลบุรี ให้บริการในพื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัด แบ่งออกเป็น 4 จังหวัด ในพื้นที่ฝั่งชายทะเล ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และ 4 จังหวัด ในพื้นที่ตามเส้นทางรถไฟ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว สำหรับ ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้บริการในพื้นที่ฝั่งชายทะเล โดยมีปริมาณงาน อยู่ที่ 70% ขณะที่ ศูนย์ไปรษณีย์กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ให้บริการในพื้นที่ตามเส้นทางรถไฟ โดยมีปริมาณงาน อยู่ที่ 30%

นายสันติ กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิรซ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีการแข่งขันสูง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้น จึงต้องมีการปรับแผนงาน เพื่อรองรับทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อป้องกันคู่แข่งเข้าแย่งชิงพื้นที่ทางการตลาด

ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา 
ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา

สำหรับ แผนการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.สร้างทีมขาย ในชื่อ สปายเดอร์ แมน โดยการให้บุรุษไปรษณีย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านพื้นที่ ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลการใช้บริการ และความพึงพอใจในการให้บริการของลูกค้า ทั้งในส่วนของคู่แข่งขัน และไปรษณีย์ไทย (ปณท) ให้กับทีมขายได้รับทราบ

2.ขยายเวลาทำการ จากเดิมเปิดบริการ ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. เป็น 08.30-20.00 น. เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง สามารถรับฝากได้เพิ่มขึ้น

Advertisement
นายสันติ หาญสุขยงค์ หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดชลบุรี

3.ร่วมกับ ปั้ม ปตท. และบางจาก ในการขยายจุดให้บริการในปั้มน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ เปิดให้บริการแล้ว 3 สาขาในภาคตะวันออก และจะมีการขยายสาขาไปยังพื้นที่ในชุมชนมากขึ้น

4.ขยายจุดบริการส่งด่วนในประเทศ (อีเอ็มเอส พอยต์) ที่เปิดให้ผู้สนใจเป็นตัวแทนให้บริการจุดฝากส่งอีเอ็มเอสในประเทศ ตลอดจนบริการเก็บเงินปลายทาง (ซีโอดี)

5.ขยายฐานลูกค้า โดยการให้ลูกค้าที่ทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ แนะนำบริการของไปรษณีย์ให้กับบุคคลอื่นได้รับทราบ เพื่อให้ลูกค้าใช้บริการเพิ่มขึ้น

Advertisement
ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา
ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในพื้นที่อีอีซี ยังมีการปรับกลยุทธ์ เช่น บริการแบบอีเอ็มเอสในพื้นที่ จ.ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา ถึงปลายทางได้ในวันเดียว เป็นต้น

นายสันติ กล่าวว่า สำหรับ ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา มีปริมาณงาน อยู่ที่ 500,000-700,000 ชิ้นต่อวัน แบ่งเป็น อีเอ็มเอส จำนวน 120,000 ชิ้น, ลงทะเบียน 80,000 ชิ้น, พัสดุไปรษณีย์ 6,000 ชิ้น และจดหมายและสิ่งตีพิมพ์ 400,000 ชิ้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณงานได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีความคุ้มค่าในการลงทุน เกิดความผิดพลาดและเสียหายน้อย จึงมีการติดตั้งเครื่องคัดแยกซองขนาดใหญ่ ที่สามารถคัดแยกได้ประมาณ 8,000 ชิ้นต่อชั่วโมง และติดตั้งเครื่องคัดแยกกล่อง ที่สามารถคัดแยกได้ประมาณ 9,000 ชิ้นต่อชั่วโมง

“สำหรับเครื่องคัดแยกซองขนาดใหญ่ และเครื่องคัดแยกกล่อง นี้ ปณท ได้ทำสัญญาเช่าใช้งาน เป็นเวลา 10 ปี โดยขณะนี้เช่าใช้งานมาแล้ว 2 ปี และสามารถลดการใช้แรงงานเฉลี่ย 30%” นายสันติ กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image