“เอ็นไอเอ” อัดฉีดสูงสุด 5 ล้าน หนุนธุรกิจนวัตกรรม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ-สังคม

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ เปิดเผยในงานแถลงทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจและสังคม 2562 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ว่า ในปี 2562 นี้ เอ็นไอเอ มีการปรับแผนงาน และแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน และเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุน เพื่อช่วยให้ความสามารถทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพ ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น และเป็นการเพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก

นายพันธุ์อาจ กล่าวว่า รูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ที่ขอรับการสนับสนุน 1.ต้องผ่านการอบรมในโปรแกรมนวัตกรรม เพื่อเรียนรู้และเข้าใจแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการ 2.ขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนธุรกิจนวัตกรรมมุ่งเป้า โดยวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ใน 6 สาขา ได้แก่ ธุรกิจนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ, ธุรกิจนวัตกรรมอาหารออกแบบสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, ธุรกิจนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, ธุรกิจนวัตกรรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคงและกิจการพลเรือน, ธุรกิจนวัตกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจนวัตกรรมสมาร์ท โลจิสติกส์ หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ซึ่งกำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม 2562 และส่วนธุรกิจนวัตกรรมแบบเปิดในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ใน 3 สาขา ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน และเศรษฐกิจบริการและแบ่งปัน

และ 3.การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมผ่านเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจเริ่มต้นสู่การลงทุน การพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับหน่วยงานต่างประเทศ โครงการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับวิสาหกิจ และกลไกการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรม

บริษัท ฉมา จำกัด สวนสาธารณะลอยน้ำ

ทั้งนี้ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งสนับสนุนลักษณะเดียวกับการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ แต่จะมีการอบรมผู้ประกอบการผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่กระจายอยู่ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และใต้ โดยการสนับสนุนด้านเงินทุน แบ่งเป็น 1.ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบมุ่งเป้า ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในแก้ปัญหาด้านสังคม และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งแก้ปัญหาใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท

Advertisement

และ 2.ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบเปิด ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ผ่าน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน ด้านภาครัฐและการศึกษา ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านความเป็นเมือง ด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ส่วนธุรกิจ

นายพันธุ์อาจ กล่าวว่า การมาของ 5G ในอนาคต จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม และระบบการให้บริการบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งความพร้อมของผู้ให้บริการเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยจะต้องมีการวางแผนว่า จะนำ 5G ไปใช้งานอย่างไร จึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยี 5G จึงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่า ยังต้องเตรียมพร้อมในเรื่อง 5G อีกเยอะ การจัดประมูลคลื่นความถี่ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ การนำมาใช้งานให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่าที่เป็นเรื่องสำคัญ

“ไม่คิดว่าระบบ 4G หรือ 5G รวมไปถึงเจนเนอเรชั่นต่อไป จะเป็นตัวกำหนดคุณค่าของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งโมเดลธุรกิจและแผนธุรกิจ ต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนด ทั้งนี้ คลื่นความถี่ที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน ยังคงสามารถพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง เมื่อมีเจนเนอเรชั่น ใหม่เกิดขึ้น ผู้ให้บริการก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งหากยืดระยะเวลาในการใช้งานในระบบเดิม แต่หันมาสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ก็สามารถทำได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี” นายพันธุ์อาจ กล่าว

Advertisement
บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด
บริษัท เบลสท์ โพรดักส์ ออฟ เอเชีย จำกัด

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image