คาดกม.ภาษีที่ดินช่วยรัฐฟันรายได้4หมื่นล.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผ่านวาระ3ของ สนช.ไปแล้ว อยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที โดยกฎหมายกำหนดให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ในส่วนกฎหมายลูกที่จะเป็นการกำหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติ ประมาณ 20 ฉบับ กำหนดให้เสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ขณะนี้เตรียมพร้อมไว้แล้ว รอกฎหมายมีผลจะทยอยออกกฎหมายลูกได้ทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้

นายลวรณกล่าวว่า ช่วงสองปีแรกของการเริ่มจัดเก็บภาษี คือ ปี 2563และปี 2564 คาดรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมีรายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ราว 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หลังจากสองปีแรกของการจัดเก็บภาษีนี้ รัฐบาลในขณะนั้นจะต้องประกาศอัตราจัดเก็บภาษีนี้ใหม่ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เพดานตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามแม้รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีรายได้สูงกว่ากฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ในปัจจุบันซึ่งเป็นกฎหมายภาษีทรัพย์สินเช่นกัน แต่ก็ต่ำกว่ารายได้ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สศค.คาดไว้เดิม 6 -7 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก สนช.ได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

นายลวรณกล่าวว่า ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ยกเว้นบ้านหลังหลักและที่ดินเกษตรกรรมที่เป็นของบุคคลธรรมดา มูลค่าราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี และกำหนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 4ประเภท โดยสองปีแรกของการจัดเก็บภาษีนี้ กำหนดอัตราจริง ประกอบด้วย 1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.01% มูลค่าเกิน 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่าเกิน 100-500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 % 2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.02% มูลค่าเกิน 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่าเกิน75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 % มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1% สำหรับกรณีบ้านหลังหลัก หากเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ให้ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว ได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท

3.ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม(ไม่ได้ใช่เป็นที่อยู่อาศัยหรือเกษตรกรรม) หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3% มูลค่าเกิน 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4% มูลค่าเกิน 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5% มูลค่าเกิน 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6% มูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7%4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก3ปีหากยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 3%

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image