วอนชะลอสร้างบ้านให้มอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ เหตุแบบบ้านคับแคบ เสนอขยายพื้นที่บนหาดเดิม

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เครือข่ายชาวเลอันดามัน นำโดยนายวิทวัส เทพสง ยื่นหนังสือต่อนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทส.ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง เพื่อขอให้ชะลอการสร้างบ้านชาวเลชนเผ่ามอแกน หมู่เกาะสุรินทร์และขยายพื้นที่เพียงพอต่อการดำรงวิถีชีวิต โดยนายวิจารย์รับปากว่าจะรีบนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือระบุว่า ชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ บุกเบิกตั้งถิ่นฐานมามากกว่า 150 ปี โดย หลังมีการแบ่งเส้นขอบแดนและแบ่งน่านน้ำของแต่ละประเทศ ทำให้ชาวเลมอแกนในอันดามันถูกจำกัดการไปมาหาสู่และออกหากิน ขาดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งๆที่ชาวเลมอแกนมีวิถีชีวิตหากินกับทะเลและชายฝั่ง สอดคล้องพึ่งพากับธรรมชาติ โดยอาศัยเครื่องมือจับปลาดั้งเดิมที่ไม่ทำลายล้าง เหตุการณ์ไฟไหม้หมู่บ้านมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ 61 หลังคาเรือน ทำให้มอแกนกว่า 70 ครอบครัว กว่า 273 คน ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ข้าว ของ เครื่องใช้ เครื่องมือหากิน โดยเฉพาะเงินทองที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต หลังไฟไหม้แล้ว ผู้คนมากมายหลั่งไหลกันมาช่วยเหลือ เมื่อเริ่มตั้งหลักได้ ต้องเริ่มสร้างบ้าน กลับไม่มีทางเลือกให้สร้างบ้านได้เหมือนเก่า ทั้งๆที่มีการบริจาคมามากพอจะสร้างบ้านมอแกนให้พออยู่เหมือนก่อนถูกไฟไหม้ เมื่อแบบบ้านออกมา มีคำถามว่าคน 12 คน จะอยู่ในบ้านขนาด 3X6.5 อย่างไร ชาวเลจึงมีข้อเสนอ 1.ชะลอกระบวนการสร้างบ้านที่มีแบบบ้านคับแคบ ไม่พออยู่อาศัยสำหรับมอแกนบางหลัง ซึ่งเดิมอาศัยรวม 2-3 ครอบครัวในหลังใหญ่

2.ให้นำเรื่องการสร้างบ้านของชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์เข้าสู่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตาม มติ ครม.2 มิถุนายน 2553 เพื่อให้หน่วยงาน ชาวเล และทุกภาคส่วนในระดับที่พอจะตัดสินใจได้ ได้หารือเพื่อหามติ 3.ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯชาวเล เพื่อสนับสนุนการสร้างบ้านและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวเลชนเผ่ามอแกนเกาะสุรินทร์

น.ส.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งลงพื้นที่ชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กล่าวว่า ขณะนี้มีของบริจาคบางชนิดมากเกินความจำเป็น เช่น เสื้อผ้าที่วางกองมากมาย ท้ายที่สุดเกรงจะกลายเป็นขยะ เสื้อผ้าที่รับบริจาคเป็นเสื้อผ้าทั่วๆ ไป แต่หญิงชาวมอแกนส่วนใหญ่ใส่ผ้าถุง และเสื้อชั้นใน ส่วนผู้ชายมักใส่กางเกงขาสั้น และเสื้อยืด สิ่งที่สำคัญ คือ การจัดกระบวนการสำหรับการแจกจ่ายข้าวของ ซึ่งควรให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม และมีบุคคลที่คอยประสานงานระหว่างภายนอกและภายใน เพื่อตรวจสอบว่ามีอะไรที่ได้รับบริจาคครบแล้ว และยังมีสิ่งใดที่ขาดแคลนบ้าง จะได้รับบริจาคข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือที่ชาวมอแกนได้ใช้ประโยชน์จริงและมีความทนทานในการใช้งาน

“จริงๆแล้วการฟื้นฟูควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างชุมชนและการประสาน-ทำงานร่วมกันทั้งระหว่างหน่วยงาน ระหว่างชุมชน และหน่วยงานกับชุมชนด้วย ไม่ควรเน้นเชิงกายภาพ หรือเน้นการปฎิบัติภารกิจของหน่วยราชการและหน่วยที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จอย่างรวบรัด เพราะจะเกิดการนำเป้าหมายของหน่วยงานเป็นตัวตั้ง แต่ละเลยการสร้างความเป็นชุมชน เท่าที่ผ่านมา ความเจริญที่เข้ามาภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ชาวมอแกนต่างคนต่างอยู่

Advertisement
สภาพบ้านก่อนไฟไหม้

วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้ชุมชนหันมารวมตัวกันและเรียนรู้วิถีที่จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้ แต่เข้าใจว่าหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลืออาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับวิถีวัฒนธรรมพื้นที่ จึงเข้าใจเพียงบางเสี้ยว และได้ข้อมูลไม่รอบด้าน อยากให้รับฟังมุมมองจากชุมชน ชวนชาวบ้านมาหารือ โดยเริ่มสร้างกลุ่มบนพื้นฐานระบบเครือญาติที่มีอยู่ ไม่ใช่แต่งตั้งผู้นำเดี่ยว หรือ เรียกใครคนใดคนหนึ่งมาสอบถาม และควรให้เวลาชาวบ้านได้คิดร่วมกัน พูดคุยปรึกษาหารือกันเพื่อวางแผนอนาคต ซึ่งชุมชนบ้านน้ำเค็มเป็นตัวอย่างของการฟื้นฟูตนเองจากภัยพิบัติสึนามิ”

สภาพบ้านก่อนไฟไหม้

น.ส.นฤมล กล่าวว่า เรื่องการสร้างบ้านหลังใหม่ให้ชาวมอแกนนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เน้นให้สร้างบ้านในพื้นที่เดิมไปก่อน หากครอบครัวใดมีความจำเป็นค่อยต่อเติมภายหลัง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในผังแบบบ้านครั้งนี้ มีพื้นที่โล่งสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชนน้อย ในขณะเดียวกันชาวมอแกนเสนอว่าควรขยับขยายพื้นที่ไปยังที่ดินอีกด้านหนึ่งของโรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง จะทำให้ลดความแออัดของชุมชนได้มาก และจะมีพื้นที่แนวกันไฟ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุอัคคีภัยในอนาคตได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image