พณ.ถกก.เกษตรจดสิทธิบัตรภาพปลากัดไทย จี้ทูตพาณิชย์ตีปี๊บทั่วโลก กันโดนสวมสิทธิบัตร

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบให้ปลากัดไทย ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอนั้น กระทรวงพาณิชย์จะกำชับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศให้เร่งประชาสัมพันธ์และแจ้งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศต่างๆทราบว่า ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย ซึ่งไม่ควรมีบุคคลใดนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่ออ้างความเป็นเจ้าของ

นางสาวชุติมา กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ประโยน์ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำทรัพยากรพันธุกรรมของไทยไปใช้โดยไม่ชอบ และจะหารือกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้มีการนำรูปปลากัดไทย ซึ่งจะต้องมีการเลือกว่าเป็นพันธ์ใด รูปลักษณะ สี แบบใด นำไปจดสิทธิบัตรภาพเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ อย่างก่อนหน้านี้มีการจดสิทธิบัตรภาพช้างไทย ภาพดอกราชพฤกษ์ ภาพศาลาไทย ซึ่งจะทำให้ต่างชาติไม่สามารถนำภาพคล้ายกันไปจดทะเบียนทางการค้าหรือหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร (ฉบับที่..) พ.ศ….ต่อครม.และผ่านความเห็นชอบแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาคาดว่าจะออกมาเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยคุ้มครองปลากัดไทยในฐานะที่เป็นทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources) ของไทย ทั้งในระดับประเทศและระดับดับสากล

นางสาวชุติมา กล่าวว่า สระสำคัญหนึ่งของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่มีการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมนั้น ในคำขอรับสิทธิบัตร เพื่อป้องกันปัญหาการขโมยทรัพยากรพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์โดยไม่ชอบ หรือที่เรียกว่าปัญหาโจรสลัดชีวภาพ (Bio-Piracy) ทั้งนี้ ไทยยังเดินหน้าเจรจา เร่งรัด และผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองทรัพยากรทางพันธุกรรมภายใต้กรอบองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)โดยหากการเจรจาจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมเป็นอย่างมาก ส่วนการแบ่งประโยชน์ไม่ได้ระบุว่าต้องอยู่ในระดับเท่าใด ขึ้นอยู่กับมูลค่าที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใดและสัดส่วนต้องเหมาะสม

Advertisement

ส่วนการขอจดสิทธบัตรปลากัดไทย นางสาวชุติมากล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ นอกจากปลากกัดไทย ชาติอื่นก็มีปลากัดเช่นกัน แต่หากเป็นการคิดกรรมวิธีใหม่ เช่น กรรมวิธีใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ก็จะสามารถนำมาขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ซึ่งผู้ประดิษฐ์หรือนักวิจัยไทยก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ส่วนในต่างประเทศ แม้มีบางประเทศที่อนุญาตให้นำสัตว์ไปจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ แต่ก็มีกระบวนการคัดค้านและเพิกถอนการจดทะเบียนตามขั้นตอนของกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ อยู่ ดังนั้น หากมีการนำสัตว์ที่เป็นทรัพยากรพันธุกรรมของไทย เช่น ปลากัดไทย ไปจดทะเบียนสิทธิบัตรในต่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการคัดค้านหรือเพิกถอนการจดทะเบียนตามขั้นตอนของกฎหมายได้

“คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติแล้ว จึงขอให้หน่วยงานและองค์กร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านทรัพยากรพันธุกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาและเฝ้าระวังไม่ให้มีการขโมยทรัพยากรพันธุกรรมของไทย เช่น ปลากัดไทย ไปใช้โดยไม่ชอบ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญ ในการป้องกันปัญหาโจรสลัดชีวภาพไม่ให้เกิดขึ้น และเป็นการรักษาสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางวัฒนธรรมไว้ให้ลูกหลานของไทยสืบไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image