‘บัณฑิต ผดุงวิเชียร’ ประมวลชีวิต บนเส้นทางสายศิลปะ

“ศิลปินนักดูนก”

ชื่อนี้คงฟังดูไม่ห่างไกลนักสำหรับคนที่คุ้นเคยกับผลงานของ บัณฑิต ผดุงวิเชียร เจ้าของคอลัมน์ “นก” ในนิตยสารพลอยแกมเพชร เคยมีผลงานภาพประกอบและให้ความรู้เรื่องนกในคอลัมน์ “ดูนกดีฝ่า” ที่หน้าเยาวชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ใครเห็นภาพวาดนกฝีมือเขาแล้วไม่หยุดมอง นับว่าต้องใจแข็งมาก

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินรุ่นน้อง เคยกล่าวถึง “พี่บัณฑิต” ไว้ว่า

“ชากาลเมืองไทย เขียนอะไรน่ารักไปหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ดอกไม้ ห้องแถว กระทั่งทางม้าลายบนถนน”

Advertisement

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา บัณฑิต ผดุงวิเชียร เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เป็นรางวัลแก่อาจารย์ซึ่งทุ่มเทการสอนให้แก่ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ที่คณะนี้มากว่า 36 ปี พร้อมทั้งยังมีผลงานหลายรูปแบบอันเห็นได้ชัดเจน

วาระนี้ทางคณะมัณฑนศิลป์จึงได้จัดนิทรรศการแสดงผลงาน “My art on the path of inspiration” รวมผลงานคัดสรรของบัณฑิต ผดุงวิเชียร

Advertisement

บัณฑิตเกิดเมื่อปี 2484 เข้าศึกษาที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ในปี 2504 เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

“เรียนได้ 1 ปี อ.ศิลป์ก็เสีย แต่ผมโชคดีที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ส่วนอาจารย์ผู้ปกครองคือ อ.ทวี นันทขว้าง ทั้งสองท่านมีรสนิยมเรื่องสีที่ดีมากในสายตาผม ใช้สีได้สวย งดงาม พอเหมาะพอดี ผมจะสนิทกับ อ.ทวีค่อนข้างมาก ส่วน อ.เฟื้ออาวุโสแล้ว ท่านจะไม่ค่อยสุงสิงกับเราซึ่งเป็นเด็ก”

ขณะเรียนอยู่ปีที่ 3-5 บัณฑิตได้รับพระราชทานรางวัลจากการประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติ 3 ครั้ง 1.รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดง ชื่อภาพ “ข้ามทางม้าลาย” 2.รางวัลที่ 2 เหรียญเงิน ชื่อภาพ “เสียงเพลงของนักดนตรีตาบอด” 3.รางวัลที่ 2 เหรียญเงิน ชื่อภาพ “งานเต้นรำการกุศล”

เรียนจบมาเป็นอาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ สอนวิชาพื้นฐาน เช่น วิชาวาดเส้น จิตรกรรม องค์ประกอบศิลป์ ศิลปไทย การจัดสวน เคยเป็นรองคณบดีและหัวหน้าภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์

หลังเกษียณ ย้ายไปใช้ชีวิตที่ จ.ราชบุรี และยังคงทำงานศิลปะเรื่อยมา

 

หลากสไตล์ ตัวอย่างงานเพื่อลูกศิษย์

บัณฑิตพูดถึงงานแสดงผลงานครั้งนี้ว่า เมื่อได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิต ทางคณะจึงให้รวบรวมผลงานที่มีอยู่มาเพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์รุ่นใหม่ได้เห็นว่าตนทำงานอะไรมาบ้าง

ผลงานของเขามีหลากหลายประเภท ตั้งแต่งานลายเส้น งานจิตรกรรม งานออกแบบตกแต่งวิหาร ออกแบบลายปูนปั้นให้วัด งานเซรามิก งานออกแบบเครื่องประดับ งานบันทึกประจำวันด้วยภาพ หรือภาพวาดนกซึ่งเป็นที่รู้จักจากนิตยสารพลอยแกมเพชร และหนังสือพิมพ์ข่าวสด

“เนื่องจากผมไม่ได้เป็นศิลปิน ผมคิดว่างานอะไรเหมาะกับอะไร เวลาผมสอนนักศึกษา ต้องการให้นักศึกษาไปถูกทาง เราต้องเขียนให้ดู มีตัวอย่างให้ดู ผมจึงเขียนได้หลายแบบหลายสไตล์”

ถามเขาว่างานที่เลือกมาจัดแสดงมีชิ้นไหนที่ “รัก” เป็นพิเศษไหม บัณฑิตบอกว่าเขารักงานของตัวเองทุกชิ้น

“ผมทำงานไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย รักที่จะทำ ไม่ได้คิดว่าต้องนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศ ผมเป็นคนทำงานเงียบๆ ชอบยินดีกับคนอื่นมากกว่า ตัวเองมีความสุขดีอยู่แล้ว”

10
โปสการ์ดส่งถึงตัวเองขณะเดินทาง
ต้นฉบับลงหนังสือพลอยแกมเพชร
โปสการ์ดส่งถึงตัวเองขณะเดินทาง
โปสการ์ดส่งถึงตัวเองขณะเดินทาง
โปสการ์ดส่งถึงตัวเองขณะเดินทาง

ภาพที่อาจารย์ให้ตก แต่ได้รางวัลระดับประเทศ

บัณฑิตเล่าถึงที่มาภาพ “ข้ามทางม้าลาย” ซึ่งได้รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดง จากการประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติว่า ช่วงนั้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีทางม้าลาย เขาและเพื่อนยังเรียนอยู่ปี 3 บังเอิญไปนั่งคุยกันตรงที่มีทางม้าลาย

“ทุกคนข้ามทางม้าลายหันหน้ากันเลิ่กลั่ก ได้จังหวะก็กึ่งวิ่งกึ่งเดิน แล้วมีหมาตัวหนึ่งสนุกกับคนที่วิ่งบนทางม้าลาย นั่งรอแล้ววิ่งตามไม่หวาดกลัว ขณะที่คนเดินกันเลิ่กลั่ก เป็นของใหม่ที่คนยังไม่ไว้ใจที่จะใช้ ผมเขียนภาพส่งอาจารย์โดยเอาความรู้สึกเป็นหลัก อ.เฟื้อให้ตก ผมไม่แปลกใจ เพราะรู้ว่าเรียนในสถาบันอยู่ ไม่ใช่ว่าเป็นศิลปิน งานต้องตรวจได้ เอาเฟรมไปให้เพื่อนทาสีขาวทับ ใช้เฟรมซ้ำ

“เมื่อก่อนนอนมหา’ลัยด้วยกันหมด แต่เพื่อนดันไปเมาเหล้า ยังไม่ทันได้ทาทับ อ.เฟื้อมาแต่เช้า ถามว่าบัณฑิตรูปนายอยู่ไหน ผมบอกว่าให้อรรถทวีไปทาทับแล้ว อาจารย์ไปตะโกนหาเพื่อนผม อรรถทวีบอกว่ายังไม่ได้ทา อาจารย์รีบยกไปให้ภารโรงชื่อนายขาวทำกรอบให้แบบง่ายๆ แล้วยกมาให้ผมบอกว่า นายต้องเอาอันนี้ส่งงานศิลปกรรมแห่งชาติ ทั้งที่อาจารย์ให้ตก”

อ.เฟื้อบอกเขาว่า ได้ขึ้นไปข้างบนแล้วเห็นอีก 2 รูปของเขาที่ยังเขียนไม่เสร็จ

“นายไม่ได้ฟลุก นายมันหลุดไปแล้ว”

แม้รูปนั้นจะได้เหรียญทองแดงอันดับที่ 3 แต่คนพูดถึงมากว่า “ไปดูรูปบัณฑิตหรือยัง”

จึงเป็นที่มาการเขียนสไตล์นี้ หลังจากนั้นงานของเขาก็ได้รับการยอมรับ

“อาจารย์ก็ไม่ห้ามผมเขียนอย่างนี้ บอกว่านายเขียนเยอะๆ แต่ไม่ต้องมาส่ง ถ้าส่งก็ตก เพราะเรียนแล้วต้องประเมินผลได้ แต่ผมก็ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากธนาคารต่างๆ ให้รางวัลผลงานการเรียนดีเด่น ซึ่งมีจักรพันธุ์ โปษยกฤต และบำรุง สมบูรณ์ ที่ได้กันเป็นประจำ”

02
“ข้ามทางม้าลาย” พ.ศ.2508
"อาบน้ำกลางแจ้ง"
“อาบน้ำกลางแจ้ง”
"เพื่อน"
“เพื่อน”
"ชาวนา"
“ชาวนา”

ถ้อยคำหลังรูป

สังเกตว่างานจิตรกรรมของเขาที่นำมาแสดง หลายรูปจะแฝงประเด็นเชิงสังคมไว้

บัณฑิตบอกว่า งานของเขาจะสะท้อนความรู้สึกของประชาชนออกมา เช่น ผลงานชื่อ “ชาวนา” ซึ่งรูปจริงจัดแสดงอยู่ที่ MOCA

“เรื่องราวของชาวนากับนายทุน มีอิสรภาพเหมือนนกที่สิ้นแรง ต้องดูแลหนี้สินที่เป็นพันธะระหว่างเขากับนายทุน ผู้มีดวงตาเป็นอาทิตย์ที่แผดเผา มีหมาล่าเนื้อเป็นบริวาร ตอนกลางคืนเขาจะเป็นดวงจันทร์สีส้มน่ากลัว มีนกฮูกล่าเหยื่อ อิสรภาพของเขาถูกเกาะกุม และมีภรรยาที่มีลูกอยู่ในท้อง”

ส่วนภาพที่เป็นมาสเตอร์พีซจากงานแสดงภาพครั้งก่อนของเขาชื่อภาพว่า “เพื่อน” บัณฑิตกล่าวว่า เพื่อนไม่จำเป็นต้องมีสีเดียวกัน เผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่เพื่อนคือคนสองคนที่ช่วยกันปกปักษ์รักษาแสงสว่างของกันและกัน อันหมายถึงปัญญา เดินไปไม่ให้ไฟนี้ดับ ฟันฝ่าอุปสรรคสิ่งเลวร้ายด้วยกัน แต่ให้ระวังว่า สิ่งไม่มีตัวตนคืออุปทาน จะเป็นตัวทำลายดึงเพื่อนเราไป

“มีรูปหนึ่งที่กระเดียดไปทางการเมือง ชื่อภาพ วันนัดพบ วันนั้นมีคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่ที่ถนนอักษะ อีกกลุ่มอยู่ราชประสงค์ เขานัดพบระดมพล ผมพูดถึงประชาชนที่เขาหวาดกลัว หวาดวิตก ผู้คนสวดมนต์ มองไปบนท้องฟ้าเหมือนมีสัตว์ร้ายจ้องอยู่ มันไม่ใช่การเมือง แต่ขอให้เห็นแก่ประชาชนเท่านั้นเอง” บัณฑิตกล่าว

งานชิ้นใหม่ กับงานชิ้นสุดท้าย

ภาพที่นำมาจัดแสดงมีส่วนหนึ่งที่เป็นงานชุดใหม่ ซึ่งวางไว้ว่าทั้งชุดจะมี 10 ชิ้น และตอนนี้ทำได้ครึ่งทางแล้ว โดยนำความเป็นอาเซียนเข้ามาผสานกับงานเขียนสไตล์บัณฑิต

เขาบอกว่าภาพชื่อ “อาบน้ำกลางแจ้ง” คือมาสเตอร์พีซของชุดใหม่นี้

“ผมนำผ้ามาเป็นตัวแทน ดึงให้เป็นศิลปะส่วนรวม แสดงออกถึงความเป็นอาเซียน ส่วนเรื่องราวอยู่ที่ความเหมาะสม โดยทำเรื่อยๆ ไม่ได้กำหนดเวลา ต้องหาเรื่องราว ความประทับใจ แต่ก่อนผมคิดว่าจะเขียนรูปให้ใครดู เพราะผมอยู่คนเดียว แล้วก็คิดว่าเราก็ดูอยู่นี่ไง ใครไม่ดูก็ช่าง เลยมีแรงเขียนขึ้นมา”

บัณฑิตเล่าว่า เขาไม่ได้แสดงงานบ่อยนัก เมื่อ 5 ปีที่แล้วได้แสดงงาน “เปิดบันทึก 70 ปี ศิลปะกับชีวิต” คนก็ให้ความสนใจว่ายังทำงานได้ เพราะบางคนอาจลืมชื่อเขาไปแล้ว

งานอีกส่วนที่มีอยู่มากคือบันทึกชีวิต ธรรมชาติและภาพนก

บัณฑิตบอกว่า เขาเริ่มวาดภาพนกมาตั้งแต่ปี 2534 และมาจริงจังหลังเกษียณ ชวนผู้คนเข้าป่าดูนก เขียนกวี เขียนภาพ ใช้ชีวิตอย่างสงบ

“ผมอยากมีงานสักชิ้นที่ลงมือทำด้วยตัวเองทั้งหมด แล้วเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น”

เขาพูดถึง “บ้านนก” ที่หมู่บ้านไทยประจัน ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นหอศิลป์และที่อาศัยอยู่

“ซื้อที่ดินผืนหนึ่ง ลงมือทำแลนด์สเคปเอง ปลูกบ้านหลังเล็กๆ เป็นชาวสวน เป็นไอ้บ้านนอก ใช้ชีวิตเรียบง่าย เลี้ยงปลา ให้อาหารนกให้ได้ทักทายกัน ปลูกผลไม้ไว้กิน ปลูกผักพริกมะเขือ เรียนรู้ตัวเอง เราใช้เวลาเรียนรู้อย่างอื่นมานาน แต่เราไม่ได้เรียนรู้ตัวเองเลย

“นี่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่จะฝังร่างเราไว้ที่นั่น”

นิทรรศการแสดงผลงาน “My art on the path of inspiration” โดย บัณฑิต ผดุงวิเชียร จัดแสดงที่หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มกราคมนี้ เข้าชมได้ในเวลา 10.00-18.00 น. ปิดวันอาทิตย์

12
งานออกแบบเครื่องประดับ
งานภาพประกอบ
งานภาพประกอบ

05 _MG_1870_1500x1000

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image