แบงก์ชาติลุยตรวจเข้มสินเชื่อรถยนต์พบเติบโตสูง-หนี้เสียจ่อเพิ่ม

สมชาย เลิศลาภวศิน

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. ได้เริ่มเข้าไปตรวจสอบเฉพาะด้าน (Target Examination) ในสินเชื่อรถยนต์เนื่องจากพบว่า สินเชื่อรถยนต์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาคล้ายกับสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้นสูงก่อนหน้านี้ โดยสินเชื่อรถยนต์คงค้างปี 2561 อยู่ที่กว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% สูงสุดเมื่อเทียบกับสินเชื่ออุปโภคอื่น ๆ และการกลับมาเติบโตในระดับเลขสองหลักอีกครั้งในรอบ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ที่มีมาตรการรถยนต์คันแรกซึ่งสินเชื่อรถยนต์เติบโตถึง 39% ก่อนจะชะลอลงมา ปี 2556 ที่ 8.4% ขณะที่ปี 2567 ติดลบ 3.4% และปี 2558 เพิ่มขึ้น 0.5% ปี 2559 เพิ่มขึ้น 1.4% ส่วนปี 2560 เพิ่มขึ้น 8.4%

“หลังจากที่หมดมาตรการรถยนต์คันแรกเริ่มเห็นการกลับมาขยายตัวสูงของสินเชื่อรถยนต์เพราะเริ่มมีการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ ขณะเดียวกันก็พบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากสินเชื่อใหม่ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 1.66% จากปี 2560 ที่ 1.60% และสินเชื่อที่จับตาเป็นพิเศษ หรือสินเชื่อที่ผิดนัดชำระไม่เกิน 3 เดือน (เอสเอ็ม) อยู่ในระดับสูงถึง 7.11% เข้าใกล้จุดสูงสุดที่เอสเอ็มสินเชื่อรถยนต์เคยปรับขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 8% ซึ่งผู้ตรวจของธปท. ได้เดินสายคุยกับซีอีโอธนาคารในหลายด้าน ทั้งนโยบายการปล่อยสินเชื่อว่ามีการดำเนินการตามนโยบายหรือไม่ และเรื่องสำคัญคือความสามารถในการชำระหนี้ การปล่อยสินเชื่อเพิ่มมีผลกระทบให้ผู้กู้ผ่อนไหวหรือไม่ เป็นต้น ส่วนจะมีการออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ต้องติดตามผลการตรวจสอบที่จะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกนี้ก่อน” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้(ดีเอสอาร์) ธปท. ไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนว่าต้องเป็นระดับเท่าใด แต่อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้มีมาตรฐานที่ตรงกัน เพราะแต่ละธนาคารก็มีการคำนวณที่แตกต่างกันออกไป

เกาะกระแสเศรษฐกิจใกล้ตัว กับมติชน คลิ๊ก!

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image