คอลัมน์รื่นร่มรมเยศ เสฐียรพงษ์ วรรณปก เรื่องสวนทางนิพพาน

มีความเข้าใจไขว้เขวอยู่หลายอย่างในแวดวงพุทธศาสนิกชนที่ผมสังเกตเห็นอยู่ในปัจจุบัน

หนึ่งในหลายอย่างนั้น คือ คนมักพูดกันว่า ศาสนาทุกศาสนามีจุดหมายสูงสุดเหมือนกัน ต่างก็สอนให้คนเป็นคนดีเหมือนกัน คำพูดประโยคนี้มักจะหลุดออกจากปากนักวิชาการหรือผู้ที่คิดว่าตนเป็นพหูสูต

ผมไม่เถียงหรอกว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนคนให้เป็นคนดี แต่ที่อยากจะติงก็คือดีไม่เหมือนกัน ดีคนละทาง ยิ่งถ้าพูดถึงเป้าหมายสูงสุดทางศาสนากันด้วยแล้ว ยิ่งคนละเรื่องกันเลย ไม่ควรเอามาปนกันให้เลอะ

เราพูดกันไม่ได้และไม่ควรพูดว่า ศาสนาไหนดีกว่าศาสนาไหน คุณมีสิทธิคิดและพูดกันเงียบๆ ในแวดวงของคุณ แต่จะประกาศออกมาให้คนต่างศาสนาเขาได้ยินได้ฟังหาควรไม่

Advertisement

เจ้าของยายี่ห้อบวดหาย มีสิทธิคิดและพูดกันในภายในพวกของตนว่าบวดหายดีกว่าทัมใจ และเจ้าของทัมใจก็มีสิทธิทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่อย่าได้ประกาศต่อสาธารณะ ว่ายาของตนดีกว่าของอีกฝ่ายหนึ่งเลว หาไม่จะร่วมรัฐบาลกันไม่ได้

เรื่องของยาแก้ปวดฉันใด เรื่องศาสนาก็ฉันนั้นแหละ

พราหมณ์-ฮินดู คริสต์ อิสลาม เขาสอนศาสนิกของเขาให้มีศรัทธาและภักดีต่อพระเจ้าเบื้องบนผู้สร้างโลกและสร้างเขามา อย่างพราหมณ์-ฮินดูนี่ เขาแยกระดับคนไว้เด็ดขาดเลย เรียกว่า “วรรณะ” ใครเกิดวรรณะไหน ต้องทำตามหน้าที่ประจำวรรณะนั้น ซึ่งเรียกว่า “ธรรมะ” ธรรมะหรือหน้าที่นี้พระเจ้าจัดสรรมาให้แต่ละวรรณะไม่เหมือนกัน

Advertisement

ศาสนาอื่นไม่มีระบบวรรณะ แต่ความเชื่อพื้นฐานอื่นๆ คล้ายกัน

คือเชื่อว่ามนุษย์พระเจ้าสร้างมา มีสติปัญญา และความสามารถจำกัด ไม่สามารถพัฒนาตนให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดหรือช่วยตนให้ “รอด” แท้จริงไม่ได้ หน้าที่ช่วยให้รอดแท้จริงนั้นเป็นของพระเจ้า

ถ้ามนุษย์ทำดีเต็มที่ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาจนเป็นที่พอใจพระเจ้าแล้ว พระเจ้าจะรับเขาไปอยู่บนสวรรค์ด้วย ทางพราหมณ์-ฮินดูเรียก “โมกษะ” คริสต์เรียกสวรรค์ อิสลามเรียกอย่างไร ยังไม่ได้ถามผู้รู้มุสลิม แต่จะเรียกอย่างไร แนวคิดสำคัญไม่ผิดไปจากที่ว่านี้

มนุษย์มาจากพระเจ้า และจะกลับไปหาพระเจ้าในที่สุด ระบบความเชื่อนี้เรียกกันในทางวิชาการว่า “เทวนิยม” (ศาสนาที่เชื่อถือและยอมรับพระเจ้า)

ส่วนพระพุทธศาสนานั้น มองมนุษย์เป็น “เวไนย” สัตว์ที่พัฒนาได้ด้วยสติปัญญา ด้วยความเพียรพยายามของตนเอง สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตด้วยตนเอง พุทธเน้นเรื่องกรรม คือลงมือกระทำด้วยตนเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน

คนอื่น หรือสิ่งอื่น เป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่ช่วยสนับสนุน ให้การช่วยเหลือตนเองของแต่ละคนให้ดีขึ้นหรือรวดเร็วขึ้นเท่านั้น

พระศาสดาของชาวพุทธมิใช่ผู้กำหนดวิถีชีวิตของชาวพุทธ มิใช่ดวงวิญญาณใหญ่ที่มอบดวงวิญญาณเล็กมาให้มนุษย์ มนุษย์ไม่มีวิญญาณอมตะที่ไม่รู้จักตายอย่างนั้น พระศาสดามิได้อยู่บนสรวงสวรรค์ที่คอยรับเอาศาสนิกผู้ภักดีไปอยู่ด้วย

พระศาสดาเป็นเพียง “กัลยาณมิตร” ผู้คอยชี้แนะทางให้เดิน พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา จงรีบพากเพียรพยายามดำเนินตามทางที่บอกเสียแต่เดี๋ยวนี้ ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้เท่านั้น

พูดง่ายๆ ว่า อยากถึงจุดหมายปลายทางก็รีบเดินไปเองสิ จะมามัวรอให้คนอื่นเขาอุ้มกระเตงกระไรได้

คนอุ้มเขาก็เหนื่อยบ้างสิวะ

ในทรรศนะศาสนาพุทธ ทุกคนมี “ศักยภาพ” ในตัวที่จะลุถึงเป้าหมายสูงสุดด้วยตัวเอง โดยปฏิบัติตามแนวทางที่พระศาสดาทรงชี้บอกไว้ ไม่เกี่ยวข้องกับพระผู้สร้างผู้บันดาลใดๆ เป้าหมายสูงสุดก็คือการละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง เรียกตามศัพท์ศาสนาพุทธว่า “นิพพาน”

แปลตามตัวอักษรว่า “ดับสนิท” หมายถึงดับกิเลส มิใช่ดับชีวิตหรือตาย

หลายคนชอบแปลนิพพานว่า “ตาย” ทำให้เกิดความไขว้เขวอย่างฉกรรจ์

มิน่าล่ะ คนจึงไม่อยากไปนิพพาน ได้แต่เดินสวนทางนิพพานกันให้วุ่น

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image