ไทยติดโผผลิตชามากสุดอันดับ 4 ของโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์และติดตามความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการชา และผลิตภัณฑ์ชาของไทยในการเปิดตลาดภายใต้เอฟทีเอต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมจัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการชา ระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย โดยการจัดงานสัมมนาและลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจชา ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อมิถุนายน 2561 ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่ในครั้งดังกล่าว พบว่า เกษตรกรบางพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการผลิตชาให้ได้มาตรฐาน ขณะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการชาคุณภาพจากเกษตรกร ในการสัมมนาและพบปะเกษตรกรที่ผ่านมา กรมฯ จึงได้พยายามเน้นเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิต การพัฒนาคุณภาพของใบชา ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชา ที่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสำคัญ ส่วนการลงพื้นที่และจัดสัมมมนาในครั้งนี้ (20 – 21 กุมภาพันธ์ 2562) กรมฯ จะมุ่งเน้นการต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมชา อาทิ ผู้ปลูกชา โรงงานชา และผู้ส่งออก เตรียมความพร้อมรับมือการค้าเสรี ตลอดจนหารือแนวทางการปรับตัว รวมถึงพัฒนาต่อยอดสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ของไทยให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมีวิทยากรจากหลายภาคส่วน อาทิ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย สหกรณ์จังหวัดเชียงราย และภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมบรรยายแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์

นางอรมน กล่าวเสริมว่า ในปี 2561 ไทยมีผลผลิตชาสดประมาณ 93,309 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27.45 แบ่งเป็นชาอัสสัม 84,231 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90.27 ของผลผลิตชาทั้งหมด และชาจีน 9,078 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.73 ในปีเดียวกัน ไทยนำเข้าชา 11,639 ตัน จากประเทศ จีน ร้อยละ49 เวียดนาม ร้อยละ25 และเมียนมา ร้อยละ11 ซึ่งภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยลดภาษีนำเข้าใบชาจากอาเซียนเหลือร้อยละ 0 แล้ว สำหรับประเทศคู่เอฟทีเออื่นๆ เช่น จีน ไทยยังไม่ได้ลดภาษีใบชาให้กับจีน โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าชาจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก อื่นๆ คือ อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 30 ในปริมาณ 625 ตัน ต่อปี หากมีการนำเข้าเกินปริมาณโควตาดังกล่าว จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 90 ขณะที่ในส่วนของอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ชา ไทยได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศคู่เอฟทีเอ เช่น อาเซียนและจีนแล้ว และในทางกลับกัน จีน และอาเซียนก็ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้กับไทยแล้วเช่นกัน ยกเว้นเมียนมาที่ยังมีการเก็บภาษีนำเข้าใบชาอยู่ที่ร้อยละ 5 และในปี 2560 ไทยยังส่งออกผลิตภัณฑ์ชาเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน โดยส่งออกเป็นปริมาณ 10,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 958 ล้านบาท ไปยังพม่า ร้อยละ 46 สหรัฐร้อยละ 27 และ

ลาว ร้อยละ 7 ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศดังกล่าว เช่น อาเซียนและจีน เป็นต้น โดยในปี 2560 ไทยส่งออกใบชา 2,710 ตัน คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 49 ส่งออกไปยังอินโดนีเซีย ร้อยละ 25 กัมพูชา ร้อยละ 19 และจีน ร้อยละ 18 นอกจากนี้ การที่ไทยจะเปิดเสรีสินค้าชาให้กับออสเตรเลียในปี 2563 ภายใต้ความตกลงเอฟทีเอ ไทย – ออสเตรเลีย นั้น คาดว่าจะไม่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมชาในประเทศ เนื่องจากออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศที่ผลิตและส่งออกชารายใหญ่ อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่า พัฒนาคุณภาพสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ก็สามารถใช้โอกาสทางการค้า หรือการลดภาษีของประเทศคู่ค้าที่มีเอฟทีเอกับไทย เพื่อส่งออกสินค้าได้

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังมีแผนที่จะลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อชี้ช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีในสินค้าอื่นๆ โดยผู้สนใจสามารถติดตามการดำเนินงานได้จากเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image