คุณสมบัติของผู้นำ ทัศนคติซูนวู โดย : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม กระชับเข้ามาทุกขณะ ประเด็นที่สถิตอยู่ในดวงหทัยของชาวสยามส่วนใหญ่คงคล้ายคลึงกัน อันเกี่ยวกับการพิจารณาเลือกพรรคใดหรือผู้ใด เนื่องจากสถานการณ์การเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย มีทั้งประชาธิปไตยซ่อนเงื่อน เผด็จการซ่อนรูป ระบอบประชานิยมระบาด และฉากส่วนหนึ่งของนักการเมืองที่สร้างขึ้นมา ตลอดจนข่าวลือข่าวปล่อย การสาดโคลนทางการเมือง เป็นเหตุให้ผู้ใช้สิทธิที่มีความสับสนอยู่แล้วสับสนมากขึ้น

จึงอาจกลายเป็นกิเลสที่สะสมและเป็นเหตุให้ความถูกใจตนอยู่เหนือความถูกต้อง หรือเห็นผิดเป็นชอบ อันเกิดจากลมปากของนักการเมือง หรือสิ่งจูงใจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

สโลแกน “แดงล่วง ม่วงเอา เทาได้” ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนา เลิกเสียได้เป็นดีที่สุด

การเลือกผู้แทนคือการเลือกผู้นำ ได้คนดีบ้านเมืองอยู่ดี ประชาชีมีสุข เลือกคนไม่ดี เสมือนการเล่นหมากรุก เดินผิดตาเดียวแพ้ทั้งกระดาน การเล่นหมากรุกก็เสมือนการวางแผนชีวิต

Advertisement

เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2512 “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความวุ่นวายได้”

การพิจารณาเลือกคนดีให้ปกครองบ้านเมืองนั้น ตำรา “ซูนวู” ปรัชญ์ของจีนได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำไว้ดังนี้

ปํญญา () สัจจะ( ) เมตตา () กล้าหาญ( )เข้มงวด( )

Advertisement

ปัญญา() สมองเฉียบแหลมคล่องแคล่วว่องไว เปรียบเสมือนกระแสน้ำไหล สามารถรับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ ทำงานท้าทายและวางแผน ล้วนต้องใช้พลังทางปัญญา

เมื่อ 1972 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เยือนประเทศจีน นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล พาชมสะพานแยงซีเกียง “นิกสัน” ถามว่าวันหนึ่งมีคนข้ามสะพานกี่คน “โจว เอินไหล” ตอบทันใดว่า 5 คนได้แก่ กรรมกร ชาวนา พ่อค้า นักเรียน ทหาร เป็นความเรืองรองแห่งปัญญาและอารมณ์ขัน แต่เป็นความจริง เพราะ 5 คนที่อ้างถึงนั้นคืออาชีพของประชาชน

“โจว เอินไหล” เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำ เป็นแม่แบบของวงการเมืองระดับสากล ด้วยมีอัธยาศัยไมตรีอันดีงาม สุขุมคัมภีรภาพ นอบน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพอ่อนโยนเยือกเย็น ไม่ใช้ผรุสวาจา ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่เขา ซื่อสัตย์สุจริต ใช้ชีวิตอย่างสมถะ สร้างคุณูปการแก่ประเทศ เป็นที่เคารพยกย่องของคนจีนและประชาคมโลก การนำรูปถ่ายของท่านไปติดไว้ที่ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ แคนาดา เป็นต้น ย่อมเป็นเครื่องยืนยัน

สัจจะ ( ) หลักขั้นพื้นฐานและหน้าที่ของมนุษย์ เป็นการสร้างความเชื่อถือแก่ตนและองค์กร ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งที่ “ซินเจียง” เขตปกครองพิเศษของประเทศจีน ยึดถือเรื่องชื่อเสียงของศูนย์คือเส้นเลือดใหญ่ ครั้งหนึ่งในอดีตพนักงานได้จำหน่ายเครื่องซักผ้าเกินราคา กระทำผิดนโยบาย เพื่อรักษาสัจจะ จึงได้ประกาศหนังสือพิมพ์ ขอให้ลูกค้ามารับเงินผลต่างคืน การจำหน่ายเครื่องซักผ้าครั้งนั้นกำไรน้อยกว่าค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์

เมตตา () ความกรุณาปรานี โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผู้ที่มีเมตตาธรรมย่อมมีความรักต่อผู้อื่น ซูนวูถือว่าทหารเสมือนบุตร โดยสอนให้มีใจรักเพื่อนมนุษย์ สมัยจั้นกั๊วมีนักรบระดับนายพล มีจิตใจรักทหารเหมือนกับบุตรของตน ได้ใช้ชีวิตร่วมกับทหารระดับใต้บังคับบัญชาเป็นต้นว่า รับประทานอาหารด้วยกัน นอนเตียงเดียวกัน เวลาเดินทางไม่ขี่ม้าและยังช่วยทหารแบกเสบียง เพื่อแบ่งเบาภาระ จนเป็นที่รักใคร่ของทหาร

มีทหารนายหนึ่งเป็นฝีร้าย นายพลใช้ปากดูดหนองให้ มารดาของทหารเมื่อทราบข่าวก็ร้องไห้ ชาวบ้านบอกว่าบุตรเป็นเพียงทหารชั้นผู้น้อย ท่านนายพลช่วยดูดหนองให้ ถือว่าท่านรักและเอ็นดูบุตร เป็นเรื่องที่น่ายินดี เหตุใดจึงร้องไห้ มารดาของทหารตอบว่า สามีของเธอก็เคยรับราชการทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายพลคนดังกล่าว และก็เคยเป็นฝีร้ายเหมือนกับบุตรชาย ท่านนายพลก็ใช้ปากดูดหนองให้เช่นกัน สามีของเธอซาบซึ้งในบุญคุณ ถึงคราวออกรบจึงต่อสู้กับข้าศึกอย่างถวายชีวิต จนในที่สุดเสียชีวิต บัดนี้ท่านนายพลก็ได้ช่วยดูดหนองให้บุตรชายอีก และเชื่อว่าเมื่อออกรบบุตรชายก็ต้องจงรักภักดีสู้จนชีวิตจะหาไม่ และไม่ทราบว่าบุตรชายจะเสียชีวิตเมื่อใดและที่ใด ดังนั้นจึงร้องไห้

เป็นคติสอนใจว่า ถ้านายทหารรักใคร่ผู้ใต้บังคับบัญชา ก็จะได้รับการตอบสนองด้วยไมตรี ในทางตรงกันข้าม ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างที่มีความละโมบโลภมากเห็นแก่ตัว รู้มากฉลาดแกมโกง ไม่รักษาวาจาสัตย์ ก็ไม่ต้องหวังน้ำใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง

สอดคล้องกับคำสแลงของจีนที่ว่า “จะให้ม้าวิ่งแต่ไม่ให้ม้ากินหญ้า”

(又要馬兒跑,又要馬兒不吃草。)

จึงไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

ที่มณฑลเจียงซีเมืองหนานชังของจีน มีภัตตาคารแห่งหนึ่งได้ยึดถือความเมตตาเป็นหลักในการค้าขาย มีลูกค้ารับประทานไก่จนหมดจาน ปรากฏว่ามีอยู่ชิ้นหนึ่งรสชาติผิดปกติ เถ้าแก่กล่าวขอโทษและไม่ขอเก็บเงิน ครั้งหนึ่ง พ่อครัวไปซื้อปลา ปรากฏว่ามีตัวหนึ่งมีกลิ่นไม่ดี จึงโยนทิ้งไป เถ้าแก่ไม่ลงโทษกลับให้รางวัล และอีกครั้งหนึ่ง มีลูกค้าสั่งโต๊ะจีนเพื่อไปเลี้ยงแขกที่มางานศพ เถ้าแก่มีความเมตตาจึงลดราคาให้ 50% แสดงว่ามีจิตสำนึกด้านมนุษยสัมพันธ์

เขากล่าวว่า ถ้าภัตตาคารแห่งนี้ได้รับความเชื่อใจจากลูกค้ายังดีกว่าการได้กำไรมาก เพราะเขาเห็นประโยชน์ของลูกค้าเป็นใหญ่ ประพฤติธรรมอันสูงส่งย่อมเป็นหลักชัยไปสู่ความเจริญ

กล้าหาญ ( ) คนที่กล้าหาญจะต้องทำแต่เรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม แม้กระทั่งเรื่องที่ต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงก็ต้องยอม ต้องใช้ความด้อยไปสู้กับความเด่น กล้าใช้กำลังที่น้อยกว่าไปสู้กับกำลังมากกว่า ปัจจุบัน การทำงานด้านประชาสัมพันธ์ ได้เน้นเรื่องความกล้าในการรับผิดชอบ กล้าบุกเบิกในเรื่องใหม่ๆ ต้องมีจิตใจกล้าเผชิญกับความเสี่ยง

9 สิงหาคม 1989 มณฑลกุ้ยโจวได้จัดงานเทศกาลศิลปกรรมพื้นเมืองครั้งแรกขึ้นที่สนามกีฬา มีการแสดงสินค้าของแต่ละเมือง โดยได้ใช้ศิลปกรรมเป็นการทอดสะพานไปสู่เส้นทางเศรษฐกิจ งานครั้งนี้จัดขึ้นโดยรัฐบาลกุ้ยโจวและทิเบตซึ่งเป็นเขตปกครองตนเอง เป็นเรื่องที่ลำบากและมากด้วยอุปสรรค เนื่องจากกุ้ยโจวเป็นท้องถิ่นเล็กและยากจน มีคนจนอาศัยอยู่ถึง 31 ตำบล ทิเบตก็เป็นท้องถิ่นที่ยังไม่เจริญ

การที่จะมาจัดงานยิ่งใหญ่ซึ่งยังไม่เคยจัดมาก่อน และแสดงสินค้าควบคู่ไปด้วย เป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นภาระที่หนักหน่วง แต่รัฐบาลก็มีความกล้าที่จัดงาน ปรากฏว่ามีชนกลุ่มน้อยถึง 14 กลุ่ม และชนชาวฮั่นอีกประมาณ 1,500 กว่าคน ซึ่งเป็นนักวิชาการและศิลปกรรวมกันเป็นคณะมาประชุมกันเป็นเวลา 8 วัน

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนเข้าร่วม 6 พันกว่าคนจากมณฑลเมือง 20 กว่าแห่ง นอกเหนือจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากผู้แทนต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และไต้หวัน

เพราะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ บรรดาผู้แทนจึงได้ทำการเจรจาทางการค้าด้วย เฉพาะมณฑลกุ้ยโจวจำนวนซื้อขายสูงถึง 150 ล้านหยวน จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าการทอดสะพานจากศิลปกรรมไปสู่เศรษฐกิจได้ผลเกินคาด

“ดอกไม้บานสะพรั่งในถิ่นทุรกันดาร” เป็นผลสำเร็จที่เกิดจากคำว่า “กล้าหาญ”

เข้มงวด ( ) ความเข้มงวดสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ ซูนวูกล่าวว่า ทหารต้องมีวินัย ต้องเป็นเอกภาพ ถ้ากองทัพไม่มีเอกภาพ การสู้รบกับข้าศึกจะได้รับชัยชนะลำบาก ครั้งหนึ่ง ซูนวูได้เข้าเฝ้าพระราชาพร้อมทั้งทูลเกล้าถวายตำราพิชัยสงครามซูนวู พระราชาทรงสนพระทัย และได้มีรับสั่งกับซูนวูว่า สามารถฝึกนางสนมให้เป็นทหารแล้วไปออกรบได้หรือไม่ ซูนวูทูลว่าทำได้ และได้นำนางสนมจำนวน 180 คน แบ่งเป็น 2 แถว โดยแต่งตั้งให้นางพระกำนัล 2 คนเป็นหัวหน้าแถว ซูนวูสอนให้เป็นผู้นำในการจัดแถวหลายครั้งแล้วยังทำไม่ได้ ซูนวูได้ฆ่านางพระกำนัล 2 คน ซึ่งเป็นคนที่พระราชาโปรดปราน หลังจากนั้น ได้แต่งตั้งคนใหม่รับหน้าที่ต่ออีก 2 คน ปรากฏว่าทำได้สำเร็จและพร้อมที่จะออกรบ

ต่อมาความได้ทรงทราบฝ่าพระบาท จึงมีรับสั่งว่า ซูนวูเป็นนักรบที่ปรีชาสามารถ เก่งกาจกล้าหาญ และยึดความ “เข้มงวด” เป็นหลัก จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายทหารรับใช้ฝ่ายในของพระองค์

งานประชาสัมพันธ์ต้องใช้ความเข้มงวดในเรื่องวินัย กฎข้อบังคับ นักการตลาดก็ต้องเข้มงวดเรื่องคุณภาพสินค้า ต้องให้ได้มาตรฐานสากล จึงจะครองตลาดได้

เจตนาที่แท้จริงของ “ตำราพิชัยสงครามซูนวู” คือเฉพาะการทหารเท่านั้น สมัยชุนชิว มีการรบราฆ่าฟันกัน หัวหน้าเผ่าทั้งหลายใช้แต่อาวุธมาประหัตประหารกัน เพราะเข้าใจว่าทำสงครามจึงจะสามารถยึดครองดินแดน ได้ตัวคน ทรัพย์สิน และเงินทอง

“ซูนวู” ศึกษาเกี่ยวกับการทำสงครามสมัยชุนชิวและประวัติศาสตร์การรบ จึงได้สัจธรรมว่า “การทำสงครามมีทางได้ประโยชน์ และก็มีทางเสียประโยชน์”

แต่วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ไม่ต้องทำสงคราม และจะทำอย่างไรจึงจะให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์โดยไม่ต้องทำสงคราม ดังนั้น ซูนวูจึงหาข้อสรุปได้ว่า

“ผลประโยชน์ของประเทศเกิดจากที่เป็นรูปธรรมและไม่เป็นรูปธรรม ผลประโยชน์ที่ไม่เป็นรูปธรรมคือรากฐานของผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ผลประโยชน์ที่ไม่เป็นรูปธรรมจึงสำคัญกว่าผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ผลประโยชน์ใกล้ตัวแปลงเป็นผลประโยชน์ไกลตัวได้ ผลประโยชน์มืดแปลงเป็นผลประโยชน์สว่างได้ ผลประโยชน์ที่ไม่เป็นรูปธรรมแปลงเป็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมได้ ผลประโยชน์อีกส่วนหนึ่งแปลงเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมได้ การทำสงครามสามารถได้รับผลประโยชน์ ไม่ทำสงครามก็สามารถได้รับผลประโยชน์ และไม่ว่าการยอมแพ้ ไม่ว่ารับการท้าทาย ไม่ว่าการป้องกันก็เพื่อผลประโยชน์ทั้งนั้น”

“ซูนวู” เน้นย้ำให้แสวงหาผลประโยชน์เพื่อส่วนรวม คัดค้านการแสวงหาประโยชน์เพื่อส่วนตัว ตำราพิชัยสงครามจึงดำรงอยู่ได้อย่างเป็นนิรันดร์

แต่กระนั้น การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนก็ยังดำรงอยู่ มากที่สุดคือ “ธุรกิจการเมือง”

หลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและธุรกิจแถบตะวันตกถือว่า การต่อสู้กันทางด้านเศรษฐกิจและการแข่งขันกันทางธุรกิจร้ายแรงกว่าการทำสงคราม ดังนั้น จึงได้นำเอาทัศนคติซูนวูมาประยุกต์ใช้ในด้านพัฒนาเศรษฐกิจ

การต่อสู้กันทางการค้าไม่ต่างไปจากกับการทำสงคราม มีทั้งแรงกด แรงต้าน มากด้วยความเสี่ยงและความสับสน นักธุรกิจจึงใช้ตำราซูนวูเพื่อรักษาผลประโยชน์โดยหลีกเลี่ยงภยันตราย

ตำราซูนวูไม่เพียงใช้ทางการทหาร หากนำไปใช้กับการบริหารธุรกิจ พัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนวงการเมือง การทูต การศึกษา การกีฬา และวงการแพทย์ เป็นต้น

แต่ซูนวูมิได้สอนให้ทหารแทรกแซงการเมือง มิได้สอนให้ทหารเล่นการเมือง

ตำราพิชัยสงครามซูนวูมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความนิยมสูง บุคคลอยู่กันคนละประเทศ มีความแตกต่างกันในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต แต่เพื่อต้องการให้ธุรกิจหรือการงานของตนมีความสำเร็จ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ต่างได้หันมาพึ่งตำราซูนวู ชาวตะวันตกถือว่าตำราซูนวูเสมือนหนึ่ง “คัมภีร์คริสต์ศาสนา”

ในอนาคตสันติสุขและการพัฒนาในด้านต่างๆ ยังเป็นความประสงค์หลักของมนุษย์ แต่การปะทะกันยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทัศนคติ “ไม่รบ” ของซูนวู จึงมากด้วยประโยชน์ สันติสุขของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้นคือ “ยุติสงคราม”

ตำราพิชัยสงครามซูนวูอยู่ยงคงกระพัน แม้เวลาได้ผ่านมา 2,000 กว่าปี ก็ยังไม่ตกรุ่น ทั้งนี้เนื่องจากทัศนคติของซูนวูสอดคล้องกับการดำรงชีพของมนุษย์ แม้สภาพสังคมต่างกันและเวลาเปลี่ยนไป แต่ก็ยังไม่ล้าสมัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามสมควรแก่เหตุ

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image