ความรักที่สร้างสรรค์บันดาลสวรรคให้กับคู่ชีวิต โดย : รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

เทศกาลวันแห่งความรักใน พ.ศ.2562 จะไม่ค่อยสดใสเท่าที่ควรมากนัก เนื่องเพราะมีเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลการเลือกตั้งเข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบกับประเทศไทยมีสถานการณ์ฝุ่นพิษปกคลุมพื้นที่ในเมืองหลวงและปริมณฑลค่อนข้างรุนแรง แม้จะเริ่มจางคลายไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ถึงกระนั้นคำว่ารัก หรือ LOVE ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของทุกคนอยู่ดี เพราะอานุภาพของความรักใครก็มิอาจจะขวางกั้นได้ความรักจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของทุกชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า “ความรักเป็นอมตะของชีวิต”

ชีวิตที่มีความรัก จึงเป็นชีวิตที่มีความหวัง และแรงขับที่สามารถผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สวรรค์ (The Heavens) บนดิน” สำหรับมนุษย์ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ของประเทศอังกฤษนามว่า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดส์ ที่ทรงมีความรักต่อมิสซิสซิมซั่น ซึ่งเป็นสามัญชนและเป็นแม่ม่าย พระองค์จึงยอมสละราชบัลลังก์ เพื่อบูชาความรัก ในประเทศอินเดีย พระเจ้าชาห์ซาฮาน ทรงมีความรักในพระมเหสีมุมตัส ถึงกับโปรดให้สร้าง ทัชมาฮาล เป็นอนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่และอลังการ ท่ามกลางความโหยหิวของพสกนิกรที่ยากไร้

1.ตำนานรักอันศักดิ์สิทธิ์ : ความรักที่ทุกหัวใจใฝ่หานั้น มีจุดเริ่มต้นที่พอจะนำมาเล่าขานกันเพื่อทบทวนความทรงจำสำหรับนักรักทั้งหลายได้โดยสังเขป ดังนี้

วันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ (Valentine) นี้ แรกเริ่มเดิมทีเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง ความเจริญพันธุ์ของชาวโรมันโบราณ ซึ่งเรียกว่า ลูเปอร์คาเลียร์ (Lupercalia) เป็นการน้อมรำลึกถึงเทพเจ้านามว่าลูเปอร์คุส คือเทพเจ้าแห่งความเจริญพันธุ์ และในกาลต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นพิธีกรรมของศาสนาคริสต์โดยโยงเข้ากับการพลีชีพเพื่อศาสนาของนักบุญชื่อว่า “วาเลนไทน์ (Saint Valentine)” ซึ่งพิธีการรำลึกถึงเทพเจ้าลูเปอร์คุสนั้น ตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ส่วนนักบุญวาเลนไทน์ ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์

Advertisement

นักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine) เป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนาคริสต์ โดยถูกประหารชีวิตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.812 หรือ ค.ศ.269 และสาเหตุที่ถูกประหารชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากการต่อสู้เกี่ยวกับความรัก หรือเป็นธุระให้กับคู่รักที่ถูกบีบคั้นให้หลุดพ้นจากบทบัญญัติทางศาสนา ซึ่งก่อนถูกประหารชีวิต เซนต์วาเลนไทน์ได้ฝากข้อความว่า “ข้าพเจ้าขอมอบความรักอันบริสุทธิ์นี้ให้กับชาวโลกชั่วนิรันดร”

ในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการจัดทำการ์ดวาเลนไทน์เป็นธุรกิจในช่วงคริสต์ศักราช 1840-1849 ส่วนในยุโรปได้เริ่มต้นจัดงานเทศกาลวันวาเลนไทน์ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16

2.อิทธิพลของความรัก : ปรัชญาของความรัก คือ “น้ำตาล ขนมหวาน และยาพิษ” จึงมีอานุภาพ หรืออิทธิพลอันยิ่งใหญ่ในหัวใจของมนุษย์ในทุกระดับ ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร หรือคนรวย คนจน เศรษฐี ยาจก นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งแพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร และอื่นๆ แม้แต่ในแวดวงนักร้องทั้งลูกกรุง และลูกทุ่งก็ล้วนแต่มีเสียงเพลงบรรเลงขับกล่อมคนแบบสื่อถึงความรักแทบทั้งสิ้น

เมื่อปรัชญาความรักมีทั้งน้ำตาล ขนมหวาน และยาพิษ จึงมีนักประพันธ์เพลงและเขียนชื่อละครออกมาที่หลากหลาย เช่น วิมานรัก เสน่ห์รัก บ่วงรัก อาญารัก อมตะรัก และพิษรัก เป็นต้น และที่สำคัญก็คือ ความรักไม่มีพรมแดน ความรักไม่มีเชื้อชาติ ศาสนา เพศ และวัย แต่ขึ้นอยู่กับหัวใจที่ตรงกัน ส่วนจะตรงกันมากน้อยหรือยืนยาวเพียงใดนั้นสุดแท้แต่บริบทของความรักเป็นที่ตั้ง ชีวิตคู่จึงเป็นชีวิตที่เสี่ยงภัยอยู่ตลอดเวลา บุคคลที่ประสบความสำเร็จและสมหวังในชีวิตคู่ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้มีบุญวาสนา และโชคชะตาเกื้อหนุน หรือบุพเพสันนิวาสดลบันดาลสวรรค์ให้กับชีวิต

3. ชีวิตกับความรัก : คนที่มีชีวิตแต่ขาดความรัก ย่อมไม่แตกต่างจากต้นไม้ที่ขาดน้ำ คือนับวันแต่จะเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลา ส่วนชีวิตที่มีความรักย่อมกระชุ่มกระชวย และสดชื่นเบิกบานตลอดเวลา เรียกว่า เตะปี๊บดัง ทั้งๆที่มีอายุใกล้จะเข้าโลง เพราะอานุภาพของความรักปรุงแต่งชีวิต คนที่มีความรัก จึงเหมือนมียาอายุวัฒนะอยู่ใกล้ตัว

ความรักระหว่างหนุ่มสาว กับความรักระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ล้วนแต่ต้องเอาใจใส่และบำรุงรักษาทั้งสิ้น ยิ่งความรักระหว่างสามี-ภรรยา ด้วยแล้ว ยิ่งต้องเพิ่มวิตามินแห่งความรัก อย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาจจะต้องครวญเพลง “วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก…” เรียกว่าต้องคอยดูแลทะนุถนอมชนิด… รักเธอเพียงดังดวงใจจะเก็บเอาไว้บนหิ้งบูชา…แทนคำว่า…
รักเธอเพียงดังกระสอบทรายจะเก็บเอาไว้บนเชิงตะกอน…แม้จะกล่าวเชิงทีเล่นทีจริงก็ตาม แต่ทว่ามันเสียความรู้สึก หรือแสลงความรู้สึกเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน เพราะถ้าเกิดโชคร้ายได้บังเอิญพบรักในลักษณะนี้ ชีวิตจะเป็นเช่นไร จะไม่ตายทั้งเป็นดอกหรือ และคงจะต้องรำพึงถึงบทเพลงที่ว่า “วันใดสำนึกแล้วเธอจะร้องไห้” เพราะธรรมชาติของมนุษย์บางคนมักจะมองข้ามคนที่อยู่ใกล้กัน ครั้นพลัดพรากจากกันอย่างถาวรแบบ
ไม่มีวันย้อนกลับ จึงรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ พวงหรีดบางครั้งก็แทบจะไร้ความหมาย บางงานศพจึงมีข้อความว่า “งดรับพวงหรีด”

เทศกาลวันแห่งความรัก ดอกกุหลาบจะมีราคาค่อนข้างแพงเพียงใดก็ตาม หนุ่มสาวหรือคนที่มีหัวใจสีชมพูก็มักจะทุ่มเทไม่อั้น เพราะต้องการแสดงน้ำใจให้คนรักพึงพอใจหรือประทับใจ แต่ผ่านพ้นวันแห่งความรักไปแล้ว ความรักที่ตกปากรับคำจนยอมหลวมตัวแทบหมดสิ้น ก็แปรสภาพเป็นการทรยศต่อกัน และกลายเป็นยาพิษ

ชีวิตกับความรัก จึงต้องอดทนและหนักแน่น จึงจะสามารถประคองไม่ให้ตกหล่นหรือแตกสลาย

4.ความรักในทรรศนะพระพุทธศาสนา : พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลักของชนชาติไทย มีหลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับความรักที่แทรกตัวอยู่ในความเมตตา (Loving-Kindness) บุคคลที่มีความรักที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเรียกว่า ไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชรนั้นต้องเป็นความรักที่แฝงด้วยความเมตตา หากหล่อเลี้ยง ความรักด้วยภาวะจิตที่เจือด้วยตัณหาราคะหรือกามารมณ์เพียงอย่างเดียวความรักจะมีอายุขัยสั้น และถนนของความรักจะมีขวากหนามคอยทิ่มตำอยู่ตลอดเวลา

ในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงสั่งสอนให้คู่ชีวิตมีเมตตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตและครอบครัวและเมตตาจะเกิดขึ้นได้ ต้องปล่อยวาง ความชนะและความพ่ายแพ้ เพราะผู้ชนะย่อมก่อเวร ส่วนผู้แพ้ย่อมผูกใจเจ็บ

ดังนั้น การมีชีวิตที่ปลอดภัยในบริบทของความรักสำหรับมนุษย์ปุถุชน ต้องมีหลักประกันที่สำคัญ 4 ประการ ประกอบด้วย

4.1 ความซื่อสัตย์และซื่อตรงต่อกัน (สัจจะ) หมายถึงการไม่ประพฤตินอกใจหรือทรยศต่อกัน

4.2 ความหนักแน่นและอดทน (ทมะ) หมายถึงการไม่คิดเล็กคิดน้อย หรือจ้องจับผิด จนขาดอิสรภาพในการเป็นชีวิตคู่

4.3 ความเข้มแข็งและท้าทาย (ขันติ) หมายถึงความมุ่งมั่นในแนวทางของชีวิตที่ตัดสินใจร่วมสุขและร่วมทุกข์โดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค และ

4.4 ความมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อ (จาคะ) หมายถึงการไม่เห็นแก่ตัวจนลืมญาติมิตรหรือเพื่อนฝูงทั้งสองฝ่าย

ชีวิตที่มีหลักประกันทั้ง 4 ข้อ เป็นชีวิตที่ปลอดภัยจากมลพิษแห่งความรัก ซึ่งเรียกว่าเป็นความรักที่สร้างสรรค์ (Creative Love) และความรักที่สร้างสรรค์คือสวรรค์ของชีวิตคู่อย่างแท้จริง

สรุป

เทศกาลวันแห่งความรักหรือเทศกาลวันวาเลนไทน์เป็นเทศกาลที่มีจุดเริ่มต้นจากวัฒนธรรมของโลกตะวันตก จึงต้องประยุกต์ให้เกิดความกลมกลืนกับวัฒนธรรมของโลกตะวันออกที่มีขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี เป็นบรรทัดฐานควบคู่กับสิ่งที่เรียกว่า ความรัก และยกระดับความรักสู่ความเมตตา เพื่อให้อานุภาพของความรักผูกมัดจิตใจให้มั่นคงต่อกัน

ขอให้วันวาเลนไทน์ จงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปลูกดอกรักในหัวใจของทุกคน และเมื่อปลูกแล้วต้องหมั่นรดน้ำและพรวนดินเพื่อให้เจริญเติบโตและงอกงามอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญอย่าลืมใส่ปุ๋ยคือความซื่อสัตย์อดทน หนักแน่น และแบ่งปันต่อกัน ความรักที่สร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นสำหรับชีวิตคู่เป็นนิจนิรันดรตลอดไป

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
คณะสังคมศาสตร์ มจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image