บอร์ดดีอี ไฟเขียวจัดหาระบบคลาวด์กลาง เป้า3ปีช่วยลดค่าใช้จ่ายรัฐ5พันล้าน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2562 ที่มี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในโครงการจัดหาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ตามที่มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) และคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่มีมติเห็นชอบแนวทาง และงบประมาณในการจัดหาและให้ดำเนินการจัดหาคลาวด์กลางภาครัฐ โดยทำสัญญาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งกระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เป็นผู้ดำเนินการจัดทำระบบคลาวด์กลาง และเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563-2565 เพื่อดำเนินการ ซึ่งคาดว่า จะทำให้รัฐบาลประหยัดค่าเช่าคลาวด์ของประเทศไปได้กว่า 5,000 ล้านบาท

นายพิเชฐ กล่าวว่า แนวทางในการจัดทำระบบคลาวด์กลางภาครัฐ จะออกแบบให้เป็นระบบที่สามารถให้บริการได้กับหลายระบบงานของภาครัฐ ที่มีความต้องการใช้งานด้านเครือข่ายเชื่อมโยงที่แตกต่างและหลากหลาย อีกทั้ง เป็นการสร้างวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับคลาวด์ของประเทศได้มากกว่า 2,500 คน ภายในเวลา 3 ปี ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า ปัจจุบันภาครัฐหลายหน่วยงาน ยังขาดเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายสำหรับใช้งาน ขาดแคลนบุคลากร ขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบงานของหน่วยงานในการเปลี่ยนเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

นายพิเชฐ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้รายงานสรุปสถานะ การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ตามผลการจัดอันดับของสถาบันชั้นนำในระดับสากล ในปี 2561 ทั้งส่วนของสภาเศรษฐกิจโลก (ดับบลิวอีเอฟ) เรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย อยู่ในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศ (ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2560) โดยในกลุ่มตัวชี้วัดพลวัตทางธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 27 จาก 140 ประเทศ (ขยับขึ้น 8 อันดับจากปี 2560), สถาบันการจัดการนานาชาติ (ไอเอ็มดี) มีการจัดอันดับในภาพรวม ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ (ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2560) โดยกลุ่มตัวชี้วัดด้านกรอบการพัฒนาทางเทคโนโลยี อยู่ในอันดับที่ 23 จาก 63 ประเทศ (ขยับขึ้น 7 อันดับจากปี 2560)

Advertisement

นายพิเชฐ กล่าวว่า ขณะที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ระบุว่า ดัชนีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทย ในปี 2560 อยู่ในอันดับที่ 22 จาก 193 ประเทศ และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในภาพรวม อยู่ในอันดับที่ 73 จาก 193 ประเทศ (ขยับขึ้น 4 อันดับจากปี 2559)

“จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของการจัดอันดับการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย มีการเสนอแผนการขับเคลื่อน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศ, การส่งเสริมหน่วยงานของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลเปิด, การลดอัตราค่าบริการอินเตอร์เน็ตประจำที่ และการส่งเสริมการพัฒนาบริการออนไลน์ในรูปแบบภาษาอังกฤษ” นายพิเชฐ กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image