ราชกิจจาเผยแพร่พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับแก้ไข-ช่วยเหลือจำเลยไม่มีทนายความ

ภาพกราฟิกลิขสิทธิ์ของ "มติชนออนไลน์"

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 33) พ.ศ.2562 มีสาระที่สำคัญ อาทิ มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 165/1 และมาตรา 165/2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา “มาตรา 165/1 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ในการไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 165 ถ้าจำเลยมาศาลเมื่อใด และจำเลยไม่มีทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ในการไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 165 ถ้าจำเลยมาศาลเมื่อใด ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดี และสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา 165/2 ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และจะระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลยด้วยก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ ศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่จำเป็นและสมควร โดยโจทก์และจำเลยอาจถามพยานศาลได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล” เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในท้ายประกาศราชกิจจาฯเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือโดยที่บทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิของจำเลย เนื่องจากจำเลยอาจไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือและไม่สามารถแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และในชั้นพิจารณาคดีหากจำเลยไม่มาศาล ศาลไม่สามารถสืบพยานต่อไปได้จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา หรือกรณีที่ไม่มีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลมาดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้นได้ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลกระทบต่อหลักการอำนวยความยุติธรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรม ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อระบบศาลยุติธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าว และโดยที่เป็นการสมควรให้การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยมีจำนวนไม่สูงเกินสมควร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

คลิกที่นี่อ่านฉบับเต็ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image