เอกชนรับลูกรัฐพร้อมส่งรถตัดอ้อยป้อนตลาด แก้ปัญหา PM 2.5 ลดต้นทุนชาวไร่ 30-50%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท กรอบ 3 ปี (ปี2562-2564) เพื่อซื้อรถในกระบวนการผลิตอ้อย เป็นมาตรการสำคัญในการลดการเผาอ้อย ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรมีความพร้อมในการผลิตเครื่องตัดอ้อยรองรับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยใช้เครื่องตัดอ้อยแทนการเผา เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังเป็นปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศได้ และช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรราคาสูงได้ 30-50%

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ภาครัฐควรกำหนดให้โรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยจากชาวไร่ไม่รับซื้ออ้อยที่ใช้วิธีการเผาเด็ดขาด รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรกลตัดอ้อยในลักษณะโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือทุนในการจัดซื้อเครื่องตัดอ้อยแทนการเผา เพื่อช่วยแก้ปัญหามลภาวะ โดยการใช้เครื่องจักรกลเกษตรจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงาน เนื่องจากชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็กและขนาดกลาง เกษตรกรไม่มีเงินทุนมากพอที่จะจ้างแรงงาน การรวมกลุ่มเพื่อระดมเงินทุนซื้อเครื่องจักรตัดอ้อยก็ไม่แข็งแรงพอ

“ภาคเอกชนโดย ส.อ.ท.มีนโยบายส่งเสริมไทยทำไทยใช้ (เมดอินไทยแลนด์) อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะมีโครงการเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรในฐานะผู้ซื้อให้ซื้อเครื่องตัดอ้อย ก็อยากให้สนับสนุนภาคการผลิตให้มีการลงทุนเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยไม่เพียงผลิตใช้ในประเทศ แต่ยังส่งออกจนเป็นที่ยอมรับในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงแอฟริกา คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรให้เติบโตได้ 10-15%” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวยอมรับว่า ปัญหาปริมาณฝุ่นละออกขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่มีปริมาณเกินมาตรฐาน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในภาคการเกษตร อาทิ วัชพืช ตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงเศษพืชเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการเผาทั้งประเทศ

Advertisement

ขณะเดียวกัน ยังมีการเผาในภาคเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชาในช่วงที่ทิศทางลมพัดฝุ่นควันเข้ามาในไทย 10% และเกิดจากการก่อสร้างต่างๆ ทั้งคอนโดมิเนียม รถไฟฟ้าอีกประมาณ 4% ทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นผลพวงให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นมลภาวะส่วนใหญ่ 50% จึงมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะรถที่ให้บริการสาธารณะ รถที่ใช้น้ำมันดีเซล และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จำนวนไม่น้อยมีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปี

รายงาน ธ.ก.ส.แจ้งว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอไปยัง ครม.เพื่อให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 6,000 ล้านบาท นำไปซื้อรถที่ใช้ในกระบวนการผลิตอ้อย อาทิ รถสางใบ รถคีบอ้อย และรถตัด โดยรถดังกล่าวมีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทต่อคัน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อได้ จึงต้องซื้อผ่านกลุ่ม เชื่อว่ามาตรการนี้ จะทำให้เข้าถึงเครื่องจักร ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดการเผาไร่อ้อยที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยคุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็น สหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน มีโรงงานอ้อยเป็นผู้ค้ำประกัน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 2% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 2% เป็นระยะเวลา 3 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image