มธ.จัดเสวนาเลือกตั้ง ชี้ไทยเดิมพันสูงมาก โซเชียลเปลี่ยนรูปแบบแข่งขัน-พลิกล็อคได้ทุกวัน

มธ.เสวนาเลือกตั้งอุษาคเนย์ ชี้ไทยเดิมพันสูงมาก โซเชียลเปลี่ยนรูปแบบแข่งขัน เชื่อพลิกล็อคได้ทุกวัน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ผ่ากระแสการเลือกตั้ง 2019 การเมืองเปรียบเทียบในอุษาคเนย์” ดำเนินรายการโดย นางสาวณัฐฏา โกมลวาทิน จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS)

ชาญวิทย์ชี้ เลือกตั้ง 62 ครั้งแรกปวศ.ไทย รู้เลยใครนายกฯ
ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวว่า มีคำอยู่คำหนึ่งที่พูดกันว่า การเลือกตั้งเป็นวิถีของโลกสมัยใหม่ คือไม่มีไม่ได้ เลี่ยงไม่ได้ แม้ไม่มีก็ต้องพยายามให้มี เพียงแต่จะทำอย่างไรให้มีแล้วไม่แพ้ การเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ถ้ามีจริงจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ทราบทันทีว่านายกรัฐมนตรีคือใครหากฝ่ายของตนชนะ เนื่องจากมีการให้พรรคการเมืองเสนอแคนดิเดตนายกฯ อย่างชัดเจน ในแง่หนึ่งการเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลึกๆแล้วเป็นการเลือกตั้งที่ยังไม่บรรลุความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตย ดังที่ ศาสตราจารย์ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เจ้าของผลงาน ‘ชุมชนจินตกรรม’ ระบุว่าในอุษาคเนย์ไม่มีประเทศใดเลยที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เป็นคณาธิปไตยเท่านั้น

“สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยในปี 2562 นี้ทำให้นึกถึงการเลือกตั้งหลายครั้งในอดีต อาทิ ในปี 2500 ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา สุดท้ายถูกประณามว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก นิสิตนักศึกษาจุฬาฯ ธรรมศาสตร์เดินขบวน จบด้วยรัฐประหาร หรือเมื่อ พ.ศ.2512 จอมพลถนอมกิตติขจร ตั้งพรรคสหประชาไทย แต่กระมิดกระเมี้ยนไม่ลงเลือกตั้งเอง พอเลือกเสร็จได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วคุมสภาไม่ได้ นำมาซึ่งเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นอกจากนี้ ในยุคพลเอกสุจินดา คราประยูร ปี 2535 ผู้นำทหารลงมาแข่งเองโดยมีพรรคสามัคคีธรรม เป็นกรณีที่ซับซ้อนมาก มีพรรคเยอะ สำหรับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเอาและไม่เอารัฐประหาร เป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม ยุ่งยาก หยุมหยิม และสับสน หากฝ่ายไม่เอารัฐประหารชนะถล่มทลายแบบมาเลเซีย จะได้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือคุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ เป็นนายกฯ ถ้าฝ่ายเอารัฐประหารชนะนิดเดียว 126 เสียงแบบเขมร พลเอกประยุทธ์จะได้อยู่ยาว” ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว

Advertisement


ประจักษ์ ไม่เชื่อโพล ชี้พลิกล็อคได้ตลอด โซเชียลเปลี่ยนรูปแบบแข่งขัน
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาตนทำวิจัยโดยไปเก็บข้อมูล 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการแข่งขันและมีการเลือกตั้งที่น่าสนใจ โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบภูมิทัศน์ทางการเมือง ไม่ได้ดูแค่วันเลือกตั้ง ตนพบว่าการเลือกตั้งกลายเป็นกระบวนทางการเมืองปกติ เป็นที่ยอมรับของชนชั้นนำทุกฝ่ายของ 3 ประเทศนี้ ฉะนั้นจึงไม่ต้องกลับมาเถียงกันแล้วว่าจะมีหรือไม่มีเลือกตั้ง ทั้ง 3 ประเทศไม่มีวาทกรรมว่า คนเมืองหรือชนบท มีเสียงเท่ากัน ใครพูดแบบนี้ถือว่าฆ่าตัวตายทางการเมือง ถ้าเป็นนักวิชาการ อาจต้องโดนสอบสวน

ชนชั้นนำทุกฝ่าย เหมือนมีสัญญาประชาคมว่าจะเดินหน้าต่อไปด้วยประชาธิปไตยที่ยอมรับกติการ่วมกัน ระบอบการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายมีส่วนกำหนด ทุกคนยินดีแข่งในกติกา ไม่ว่าใครแพ้หรือชนะก็ยอมรับผล ปัจจุบันอินโดนีเซีย คือโรลโมเดลของประชาธิปไตยในอาเซียน ซึ่งในอดีตไทยก็เคยเป็นโรลโมเดลมาก่อน คือช่วง ค.ศ. 1990 ซึ่งหลายคนอาจนึกภาพไม่ออก สำหรับผลการเลือกตั้งในภูมิภาคนี้ ถือว่าคาดเดายากมาก กว่าจะรู้ผลแน่ชัด คือวินาทีสุดท้าย และอาจไม่ตรงโพล ปัจจุบันพลังโซเชียลเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน เปลี่ยนพฤติกรรมทั้งนักการเมือง ผู้สมัคร รวมถึง กกต.

“เราอยู่ในยุคความผกผันสูง ตอนนี้ทุกคนสนใจว่าผลการเลือกตั้งของไทยจะออกมาอย่างไร คิดว่าไม่มีใครบอกได้ ในช่วง 1 เดือนทุกอย่างเปลี่ยนได้ทุกวัน ส่วนตัวไม่เชื่อผลโพลเลย ในมาเลเซีย อินโดฯ ฟิลิปปินส์ก็สูสีมาก อย่างตอนมาเลเซีย นาจิบก็ช็อคมาแล้วจากการแพ้เลือกตั้ง ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ก็เป็นม้ามืด กรณีไทยไม่ใช่ว่าจะพลิกล็อคไม่ได้ การเลือกตั้งทั่วโลกจะพบว่าพลิกล็อคหมด ไม่ใช่เฉพาะปรากฏการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่คนไปใช้สิทธิเยอะ เมื่อปี 2554 ไทยมีคนไปเลือกตั้งถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆในโลก สวนทางกับประเทศพัฒนาแล้ว คนบอยคอตมีแค่ส่วนน้อย สะท้อนว่าคนยังมองว่าการเลือกตั้งคือทางออก กรณีคนรุ่นใหม่กับโซเชียลมีเดีย มองว่าโซเชียลมีเดียมาเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน ตัวผู้เลือกมีพฤติกรรมการหาข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไป ทุกคนเป็นหัวคะแนนในตัวเอง ซึ่งมาเลเซียคือประเทศแรกที่ตระหนักถึงพลังโซเชียล และฝ่ายค้านก็ใช้เก่งกว่ารัฐบาล อย่างไรก็ตาม พลังการเมืองแบบเก่าซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์ มีหัวคะแนน ก็ยังมีบทบาทอยู่ในไทย” ผศ.ดรประจักษ์กล่าว และว่า ในการหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น ประเด็นที่ไม่ควรนำมาใช้เพราะจะบดบังนโยบาย คือ เรื่องอัตลักษณ์ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เช่น ในอินโดฯ มีการกล่าวหาเรื่องการไม่ใช่มุสลิมแท้ ส่วนมาเลเซีย ประเด็นชาติพันธุ์ถูกนำมาโจมตี ไทยควรเก็บบทเรียนจากประเทศเหล่านี้มาพิจารณา

Advertisement

สุณัย ลั่น เดิมพันครั้งใหญ่ ถามปชช.เอาชนะความบูดเบี้ยวของกติกาอย่างไร
นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรท์ วอช ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้นำไทยนำประเด็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดไปขายในระดับนานาชาติ แต่กลายเป็นว่าพอมาพูดกับคนในชาติให้น้ำหนักเบา เพราะฉันทามติในประเทศยังไม่เกิด ประเทศไทยน่าสนใจที่ว่าฉันทามติไมได้ผูกขาด มวลชนคือปัจจัยสำคัญในการสร้างฉันทามติ ในระหว่างชนชั้นยังไม่สามารถตกลงใจกันได้ว่าจะเอาการเลือกตั้งเป็นวิถีหรือเปล่า มวลชนก็แยกกัน มีทั้งที่เอาเลือกตั้งกับไม่เอาเลือกตั้ง พร้อมจะใช้ความรุนแรงยุติผลพวงจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสภาวะที่น่าสนใจมาก ล่าสุดยังมีประเด็นที่ผบ.ทบ. กล่าวถึงเพลงหนักแผ่นดินซึ่งเป็นเพลงที่มีเฮดสปีชรุนแรงที่สุดในบรรดาเพลงปลุกใจทั้งหลาย เป็นเพลงที่มีมุมมองให้จัดการคนเห็นต่างโดยการปราบปรามให้สิ้นไป

“การเลือกตั้งของไทยครั้งนี้เดิมพันใหญ่มาก เพราะเป็นการโยนทั้งระบบในประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เพราะฉะนั้นจะเป็นคำถามกลับมาว่าท่ามกลางกติกาบูดเบี้ยว คนจะเอาชนะการปิดกั้น และการบูดเบี้ยวนี้อย่างไร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เปรียบเต็มประตู โดยเริ่มที่ 250 สว. แต่ถ้าเสียงอีกด้านถล่มทลายมาก จะดันทุรังไปได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ กองทัพยังให้ความสนใจกับโซเชียล โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการแล้วยกระดับให้มีองคาพยพชัดเจน มีไอโอทำป็นระบบ แล้วยังให้เอกชนทำด้วย ในสถานการณ์ปัจจุบัน กองทัพประกาศตัวว่าเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น” นายสุณัย กล่าว


ดุลยภาค เผยแรงจูงใจทำไม ‘เผด็จการ’ เสี่ยงจัดเลือกตั้ง
ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าวว่า รัฐในอุษาคเนย์ที่พัฒนาประชาธิปไตยสูงสุด คือ ติมอร์ตะวันออก, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีความรุนแรงในการเลือกตั้ง และมาเฟียท้องถิ่นก็ยังมีบทบาทแต่ถือก้าวหน้าถ้าเทียบกับรัฐอื่นในภูมิภาค สำหรับกรณีกัมพูชาและสิงคโปร์ มีการเลือกตั้งแต่ก็ทำให้พรรคที่ครองอำนาจสืบทอดอำนาจต่อเนื่องยาวนานอย่างมีความชอบธรรม

“การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย เรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือ ถใช้ในการสร้างสันติภาพ กรณีนี้เด่นชัดมากคือกัมพูชา ค.ศ. 1993 สหประชาชาติเข้ามามุ่งยุติสงครามกลางเมืองให้เกิดความสงบสุข บรรเทาความรุนแรง ซึ่งสำเร็จในช่วงแรก นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งในบางประเทศเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เผด็จการอยู่ได้ เป็นเครื่องมือในการต่ออายุตัวเอง จึงจัดให้มีเลือกตั้งแม้จะเสี่ยง แรงจูงใจที่ทำให้เผด็จการสนใจการเลือกตั้ง เพราะการเปิดสนามสามารถเก็บข้อมูล รู้ทัศนคติว่าใครเป็นปฏิปักษ์ เผด็จการจะผลิตยุทธศาสตร์ออกมาตอบโต้ ที่เห็นชัดคือกรณีสิงคโปร์ อีกประเด็นหนึ่งที่คลาสสิกมาก คือเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ที่เห็นชัดคือพม่า ซึ่งทหารครองอำนาจมานาน แต่ก็มีการเลือกตั้ง โดยปัจจุบันเป็นรัฐกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ส่วนลาว เวียดนาม บรูไน เผด็จการเต็มที่ แม้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่อยู่บนฐานประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะบรูไน มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ไม่มีระดับชาติอีกทั้งอยู่ในสายตาของสุลต่าน” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image