ไทยเตรียมพร้อม 10 อาเซียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ใช้จริง มี.ค.63

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า(SC-AROO) กับประเทศ 10 สมาชิกประเทศอาเซียน โดยอาเซียนได้ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) ในกรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ในประเด็น เช่น คุณสมบัติของผู้ขึ้นทะเบียน (Good Track Record) การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าโดยผู้ส่งออกในประเทศคนกลางเมื่อส่งสินค้าไปประเทศที่สาม (Back to Back SC) และการกำหนดข้อความรับรอง (Statement) เป็นต้น

นายอดุลย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาเซียนได้จัดทำบันทึกความตกลง MOU ให้มีโครงการนำร่องในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 2 โครงการ ซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมในแต่ละโครงการ การกำหนดคุณสมบัติผู้ขึ้นทะเบียน เอกสารและข้อความในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ทำให้ผู้ส่งออกในประเทศที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งไม่สามารถส่งสินค้าโดยใช้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าข้ามไปยังประเทศที่เข้าร่วมอีกโครงการได้ ส่งผลให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการรับรองน้อยกว่าการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D

นายอดุลย์กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ส่งออกให้เท่าเทียมกับ Form D ซึ่งจะช่วยขยายมูลค่าการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และขยายกรอบการใช้ระบบดังกล่าวในความตกลงการค้าที่อาเซียนได้ทำกับประเทศต่างๆ ประเทศสมาชิกจึงได้เห็นชอบให้รวมโครงการนำร่องทั้งสองโครงการเข้าด้วยกันให้เป็นโครงการเดียว โดยเรียกว่า “ASEAN Wide Self-Certification” (AWSC) โดยการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องดังกล่าวใน ATIGA จะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2562

“หลังจากนี้ประเทศสมาชิกต้องจัดทำกฎหมายภายในประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และให้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (AWSC) มีผลใช้บังคับภายใน 30 วันนับจากวันที่ทุกประเทศแจ้งผลการจัดทำกฎหมายภายในเสร็จสิ้น คาดว่ามีผลใช้บังคับประมาณเดือนมีนาคม 2563”

Advertisement

นายอดุลย์กล่าวว่า กรมจะออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศฉบับใหม่ เพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตาม ATIGA และจะมีการจัดสัมมนาประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป เพราะการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง จะเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันทางการค้าได้ โดยปัจจุบันมีผู้ส่งออกไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในโครงการนำร่องที่ 1 จำนวน 207 ราย และโครงการนำร่องที่ 2 จำนวน 119 ราย รวมทั้งสิ้น 326 ราย มีมูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ตั้งแต่ปี 2559-2561 ประมาณ 963 ล้านเหรียญสหรัฐ 1,550 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2,599 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 60 ต่อปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image