‘ดีอี’ ดึงเฟซบุ๊ก-กูเกิล-ไลน์ ร่วมเวทีถกมาตรฐานใช้งานโซเชียลมีเดีย

นายขจิต สุขุม ผู้ตรวจราชการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในการประชุมหารือร่วมกัน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ 3 รายใหญ่ของโลก ได้แก่ เฟซบุ๊ก, กูเกิล และไลน์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนแนวปฏิบัติ ในการรับมือปัญหาวิธีประกอบธุรกรรมในโซเชียลมีเดียที่ดีและถูกต้อง โดยจะมีการนำสรุปผลการหารือเสนอต่อคณะทำงานด้านสารสนเทศและโทรคมนาคมของเอเปค เพื่อสร้างความตระหนักทั้งด้านโอกาสและภัยคุกคามของสื่อสังคมออนไลน์ให้กับประเทศสมาชิก

นายขจิต กล่าวว่า ปัจจุบัน เอเปค มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการกำกับดูแลทางสังคมในยุคดิจิทัลอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีข้อมูลระบุว่า ในขณะที่ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้โซเชียลมากกว่า 2.4 พันล้านราย ครึ่งหนึ่งหรือกว่า 1.2 พันล้านราย อยู่ในประเทศกลุ่มเอเปค ขณะที่ ผู้ให้บริการรายใหญ่ของโลก ยังเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศสมาชิกของเอเปคด้วย

“ขณะนี้ การใช้โซเชียลมีเดียแพร่หลายมาก แต่สิ่งหนึ่งที่มักไม่ค่อยได้ตระหนัก ก็คือ การกำกับดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ให้มีการใช้ด้วยความปลอดภัย สามารถเชื่อมั่นได้ โดยการกำกับดูแลเหล่านี้ ไม่ใช่การควบคุม แต่เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยถูกต้องในการใช้งาน ซึ่งความถูกต้องในการให้ข้อมูลและสื่อสาร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับสังคม ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้พยามยามผลักดัน ทั้งในประเทศ และในระดับสากล” นายขจิต กล่าว

Advertisement

นายขจิต กล่าวว่า สำหรับร่างกฎหมายดิจิทัล 6 ฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องสอดคล้องกับกฎหมายลักษณะเดียวกันของเอเปค และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน มุ่งส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อโซเชียลให้กับประชาชนผ่านการอบรมในโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อรับมือกับแนวโน้มการแพร่กระจายของข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์และไม่พึงประสงค์ ที่มีมากขึ้นบนสังคมออนไลน์” นายขจิต กล่าว

นางสาวชีน ฮันดู ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำเอเชียแปซิฟิค จากบริษัท เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เฟซบุ๊ก มีสมาชิกราว 2.3 พันล้านคน จึงได้กำหนดนโยบายที่เรียกว่า มาตรฐานชุมชน ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์กำกับดูแลการใช้งาน พร้อมทั้ง การลงทุนในด้านการใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (แมชชีน เลิร์นนิ่ง) รวมทั้งจ้างบุคลากร 30,000 คนทั่วโลก ทำหน้าที่สอดส่องดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีการโพสต์เนื้อหาที่เป็นการละเมิดมาตรฐานชุมชนที่กำหนดไว้ครอบคลุมหลักๆ 9 หัวข้อ เช่น การก่อการร้าย ความปลอดภัยของเด็ก และเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

นายเจค ลุคชี่ หัวหน้าฝ่ายคอนเทนท์ และ AI ฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท กูเกิล (เอเชีย แปซิฟิค) ซึ่งเป็นเจ้าของยูทูป แพลตฟอร์มวิดีโออันดับ 1 ของโลก เปิดเผยว่า มีการบัญญัติมาตรฐานชุมชนของบริษัทเช่นกัน แต่ยังยึดมั่นในหลักการของอิสระในการแสดงออกของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม กูเกิล ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล เพราะทุก 1 นาที จะมีการอัพโหลดวิดีโอใหม่ๆ ความยาวรวมกันประมาณ 400 นาทีขึ้นยูทูบ

Advertisement

นายเจค กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2561 มีการถอดคลิปวิดีโอที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน จำนวน 7.8 ล้านคลิป คิดเป็นสัดส่วน 1% ของจำนวนคลิปที่มีการรับชมบนยูทูป โดย 75% นำออกจากเครือข่ายได้ทันก่อนมีผู้รับชม นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ด้วย

นายไทมุ เนกิชิ นักยุทธศาสตร์ ฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ไลน์ เป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายความเป็นส่วนตัวอย่างมาก ทุกข้อความการสนทนาของผู้ใช้งานจะถูกเข้ารหัส และถูกจัดเก็บอยู่ในระบบของสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กรอบกฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งมีความเข้มงวดในการคุ้มครองสังคมอย่างมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทย เป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของไลน์ รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยในจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ 50 ล้านคน มีผู้ใช้ไลน์ 44 ล้านคน ซึ่งใช้งานเฉลี่ย 63 นาทีต่อวัน

“การกำกับดูแลการใช้งานที่ดีบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่า จะยังไม่ถึงขั้นที่มีการลงทุนนำเอาเทคโนโลยีเอไอ มาใช้ แต่ที่ผ่านมา ทางบริษัทเน้นการสร้างความรู้ให้กับเยาวชนในญี่ปุ่น ให้รู้ทันสื่อดิจิทัล ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา” นายไทมุ กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image