กรุงไทยแย้มอาจขึ้นดอกเบี้ยรักษากำไร-นิม มุ่งโตรายย่อยเพิ่มรายได้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(นิม) ของธนาคารปี 2562 ยอมรับว่าการเติบโตของนิมมีความกดดันแต่ธนาคารพยายามจะผลักดันให้เติบโตเพิ่มขึ้น จากปี 2561 ที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 3.13% ผ่านกลยุทธ์สำคัญ ข้อแรกคือ การเติบโตของสินเชื่อที่ปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 5% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศ(จีดีพี) ที่ 4.1% มุ่งเร่งการเติบโตในธุรกิจรายย่อย คาดว่าจะเติบโตราว 6-7% นอกจากสินเชื่อบ้าน ธนาคารมีการให้บริการใหม่ เช่น การปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์ (ดิจิทัล เลนดิ้ง) ที่อยู่ระหว่างการทดสอบในแซนบ็อกซ์ของธนาคาร สินเชื่อจักรยานยนต์ และจำนำทะเบียนที่ขยายเพื่อรองรับลูกค้าธนาคารที่จะเริ่มให้บริการในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2562 การขยายฐานลูกค้าโมบายแบงกกิ้งเพิ่มเป็น 10 ล้านคนจากปัจจุบันราว 4.5 ล้านคน เป็นต้น ซึ่งการขยายฐานลูกค้ารายย่อยแม้จะมีต้นทุนการหาลูกค้าใหม่ และมีการแข่งขันสูง แต่เป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง และจะนำไปสู่การขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารพ่วง(ครอสเซลล์) ได้จะช่วยเพิ่มนิมได้

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) จะเน้นขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่นโลจิสติกส์ เกษตรแปรรูปมากขึ้น สินเชื่อรายใหญ่คาดว่าจะเติบโตไม่หวือหวาเพราะรายใหญ่มีช่องทางการออกหุ้นกู้แทนการกู้จากธนาคารและในแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้เพื่อล็อคต้นทุนการเงินในระยะยาว และสอง การบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ให้ดีขึ้น ปีนี้คาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 1.00 แสนล้านบาท จากปีที่ผ่านมา 1.02 แสนล้านบาท และทำให้ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองในปีนี้จะลดลง แต่ธนาคารยังจะรักษาอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพให้อยู่ในระดับ 120-130% จากที่อยู่ 125%

นายผยง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี(เอ็มอาร์อาร์) ของธนาคารอยู่ที่ 7.120% เป็นหนึ่งในสองธนาคารที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม โดยต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ ราว 0.25% ซึ่งบนบริบทของกรุงไทยไม่ควรเป็นธนาคารที่เอ็มอาร์อาร์ต่ำที่สุด เพราะเครดิตเรทติ้งอยู่ในระดับที่ดี แต่การที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเนื่องจากกรุงไทยไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด แต่กรณีนี้อาจจะไม่ยุติธรรมกับกรุงไทย ยุติธรรมกับผู้ถือหุ้นหรือไม่ ดังนั้น ในระยะยเวลาที่เหมาะสมธนาคารอาจจะพิจารณาว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์เท่าเดิมหรือจะปรับขึ้นมาให้เท่ากับธนาคารอื่นๆ โดยเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาคือ สภาพคล่องในตลาด อุปสงค์และอุปทาน ซึ่งขณะนี้โดยรวมทั้งตลาดยังมีสภาพคล่องเหลือมาก แต่บางธนาคารอาจจะเริ่มสภาะคล่องตคงตัว

“หากธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ให้มาเท่ากับธนาคารอื่นก็ทำได้เลย แต่ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐจึงยังรอจังหวะที่เหมาะสมก่อน ซึ่งสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารจะอยู่ที่ระดับ 92% จึงไม่มีแรงกดดันขึ้นดอกเบี้ยเงินแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแล้ว แต่เป้าหมายปีนี้ธนาคารคาดว่าจะรักษากำไรที่ 2.5 หมื่นล้านบาทก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพราะถ้าดูง่าย ๆ พอร์ต 1 แสนล้านบาทต่างกัน 0.25% เท่ากับ 250 ล้านบาท ถ้า 4 แสนล้านบาทเท่ากับ 1 พันล้านบาท กำไรเห็น ๆ นี่คือความต่างของดอกเบี้ยในในแง่ผลประกอบการ” นายผยง กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image