พณ.จ่อคุมเข้มการนำเข้ารถใช้แล้ว ป้องกันมลพิษ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯเตรียมปรับปรุงประกาศระเบียบกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วเพื่อป้องกันปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้ง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน การแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมโดยนำรถยนต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศ และเป็นการปรับลดขั้นตอนการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนตามนโยบายรัฐบาล จึงทำการทบทวนรายการรถยนต์ที่ใช้แล้ว เป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2496 ครอบคลุมรถยนต์ที่ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากร และต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบด้วย
1.รถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัว 2. รถลักษณะพิเศษที่ใช้แล้วเพื่อใช้ในกิจการของตน 3.รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่ได้รับการยกเว้นหรือชดเชยภาษี 4. รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การสาธารณกุศล 5. รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเป็นการชั่วคราว 6.รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตหรือการศึกษาวิจัย 7. รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก 8. รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ 9. รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดโดยใช้ประโยชน์สุทธินำกลับ

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงได้จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องแล้ว 15 ครั้งตั้งแต่ปี 2558 เพื่อพิจารณาทบทวนมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้ว และที่ประชุมมีมติห้ามนำเข้ารถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัว สำหรับรถยนต์ประเภทอื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแล ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ยังคงกำกับดูแลรถยนต์ลักษณะพิเศษเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง (รถเครน) และรถยนต์ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การสาธารณกุศลได้รับบริจาค (รถพยาบาลและรถดับเพลิง) กระทรวงฯจึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ที่ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ….โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบร่างประกาศแล้ว

นางสาวชุติมา กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวคือต้องการลดปริมาณการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วที่ไม่มีความจำเป็นและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการนำเข้ารถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัว ซึ่งการห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วในกลุ่มดังกล่าว ยังสามารถแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมโดยนำรถยนต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศ ทำให้ภาครัฐไม่สามารถเก็บภาษีนำเข้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยวิธีการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมดังกล่าว เช่น การสวมสิทธิ์แทนบุคคลอื่นเพื่อนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้ว การปลอมแปลงเอกสารประกอบการขออนุญาต ปีที่ผ่านมาขอนำเข้า 100 คัน พบว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร 25 คัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณงานที่ไม่มีความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การตอบหนังสือการตรวจสอบข้อมูลการอนุญาตนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่าเดือนละ 100 ฉบับ การเข้าให้ปากคำเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบเอกสารกับหน่วยงานต่างประเทศและในประเทศเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ประเด็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วบางประเภท โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอรับเอกสารประกอบการนำเข้าได้ที่หน่วยงานผู้กำกับดูแลเพียงจุดเดียวเช่น การนำเข้ารถยนต์ต้นแบบในการผลิตหรือการศึกษาวิจัย การนำเข้ารถยนต์เป็นการชั่วคราวเพื่อใช้ในการแข่งขันหรือเพื่อเป็นตัวอย่างหรือเพื่อจัดแสดง การนำเข้ารถยนต์เพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก เป็นต้น เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสามารถแข่งขันด้านนวัตกรรม สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ให้สามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์นวัตกรรมสมัยใหม่ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล อีกทั้ง กรณีชาวต่างชาติต้องการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วเพื่อการท่องเที่ยวยังคงสามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ภายใต้กฎหมายศุลกากร โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์

Advertisement

” เพื่อให้การออกกฎหมายที่จะแก้ไขเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www.dft.go.th. แล้วถึงวันที่ 14 มีนาคมนี้ ก่อนเสนอเข้าครม. พิจารณา หากผ่านเห็นชอบของครม.แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนาม เพื่อประกาศใช้ ก่อนมีผลบังคับจริงจากลงนาม 6 เดือน” นางสาวชุติมา กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image