ธนารักษ์เปิดประมูลสรรหาผู้ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก รอบ 2

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้เปิดประมูลรอบใหม่ เพื่อสรรหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื้อที่ประมาณ 1,067 ไร่ โดยกำหนดเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าเช่าในอันตราไร่ละ 36,000 บาทต่อปี คิดค่าเช่าปีละ 38 ล้านบาท และได้กำหนดค่าธรรมเนียมการประมูลเป็นเงิน 266 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาเช่า 50 ปี

“การเปิดประมูลสรรหาผู้ลงทุนรอบนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เนื่องจากการเปิดประมูลครั้งแรก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เปิดเวลาเอกชน 30 วัน เข้ามาทำสัญญา แต่เอกชนก็ไม่มาทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด จนสุดท้ายต้องยกเลิกการประมูล โดยรายงานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) เพื่อทำการเปิดประมูลใหม่ โดยรอบนี้จะยังยึดเงื่อนและผลประโยชน์ตามเดิม ”นายอำนวยกล่าว

นายอำนวย กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้เสนอการลงทุน จะต้องเป็นนิติบุคลตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท กรณีกิจการร่วมค้า(joint Venture) เป็นการร่วมทุนของธุรกิจที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีผลงานหรือประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างน้อย 1 โครงการ ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาการขายเอกสารลงทุน ระหว่างวันที่ 5-30 มีนาคม2562 โดยติดต่อซื้อเอกสารลงทุนที่ส่วนกลาง ณ กองบริการที่ราชพัสดุภูมิภาค ชั้น 5 กรมธนารักษ์ และยื่นซองเสนอโครงการลงทุนได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562

นายอำนวย กล่าวว่า ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล 10 พื้นที่ ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ปัจจุบันการมีผู้เซ็นสัญญาเช่าที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว 4 แห่ง 5 สัญญา ได้แก่ สระแก้ว ตราด สงขลา และกาญจนบุรี จำนวนพื้นที่ 5,290 ไร่ มูลค่าโครงการ 5,621 ล้านบาท

Advertisement

“จังหวัดมุกดาหาร และนครพนม มีการเปิดซองแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์25562 โดยพบว่ามีเอกชนมาซื้อซองจำนวน 4-5 ราย แต่ที่จังหวัดนครพนมมีเอกชนมายื่นเพียงจังหวัดเดียว ส่วนที่จังหวัดหนองคายและมุกดาหารยังไม่มีเอกชนรายใดมายื่นเอกสาร”นายอำนวยกล่าว

นายอำนวย กล่าวว่า สำหรับโครงการในที่ราชพัสดุที่ยังเหลืออยู่ ที่ต้องเร่งทำให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ 3 โครงการ เป็นมูลค่าโครงการเกือบ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต มูลค่า 26,000 ล้านบาท 3.โครงการพัฒนาโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มูลค่า 10,000 ล้านบาท 3.โครงการโรงภาษีร้อยชักสาม มูลค่า 3,000 ล้านบาท

นายอำนวย กล่าวว่า สำหรับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการลงนามสัญญาไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 แผนการก่อสร้างกำลังออกแบบอยู่ และอยู่ระหว่างการอนุญาตของท้องถิ่น โดยการสำรวจรายการครุภัณฑ์ที่ต้องซื้อทั้งหมดจะเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนเมษายนนี้ และเริ่มก่อสร้างตั้งแต่พฤษฎาคมเป็นต้นไป โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
นายอำนวย กล่าวว่า ส่วนโครงการหมอชิต คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติแล้วเรื่องการแก้ไขสัญญา กับคู่สัญญารายเดิม เนื่องจากศาลพิพากษาว่ายังมีผลผูกพันอยู่ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่เอกชนต้องทำแบบรายละเอียดทั้งหมด และขออนุญาตจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการร้อยชักสาม ได้ร่างแก้ไขสัญญาจากอัยการมาเรียบร้อยแล้ว โดยจะสรุปเรื่องเพื่อแก้ไขสัญญาไปเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนมีนาคม2562

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image