ทิศทางอนาคตอุดมศึกษาชาติกับปรากฏการณ์ หนีเสือปะจระเข้ โดย : ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรม และสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ

ประกอบกับในขณะนั้นสังคมต้องการให้มีการแก้ไขความอ่อนด้อยของผลการศึกษา จึงกำหนดจุดหมายไปที่การพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะที่พึงปรารถนาอย่างสมบูรณ์โดยเฉพาะการพัฒนาคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชาติให้เจริญก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ

ด้วยความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าวจึงได้ตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 116 ตอนที่ 74 ก วันที่ 19 สิงหาคม 2542 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารจัดการศึกษาอบรมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้หลอมรวมหน่วยงานด้านการศึกษาเดิมได้แก่กระทรวงศึกษาธิการเดิม ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าด้วยกันเป็นกระทรวงใหม่ชื่อว่ากระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีโครงสร้างในการแบ่งส่วนราชการในรูปของคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งงานการอุดมศึกษาที่เคยสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยถูกแปรสภาพมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ต่อมารัฐบาลในยุค นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมีนโยบายปฏิรูประบบราชการเข้าสู่ระบบราชการยุคใหม่ได้มีการปรับบทบาท ภารกิจและการจัดโครงสร้างระบบบริหารราชการ มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 โดยการจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการใหม่ในรูปสภาหรือคณะกรรมการจำนวน 4 องค์กร ซึ่งหนึ่งในองค์กรนั้นคือคณะกรรมการการอุดมศึกษา

Advertisement

ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างหรือการแปรสภาพงานการอุดมศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัยเข้าสังกัดบ้านใหม่อย่างกระทรวงศึกษาธิการผู้เกี่ยวข้องในยุคนั้นต่างแสดงทรรศนะให้เห็นทั้งในด้านบวกและด้านลบถึงความสำคัญและความจำเป็นโดยเฉพาะบทบาทและภารกิจของการอุดมศึกษาที่อาจจะมีความแตกต่างกับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการอาชีวศึกษา

ภายหลังที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาได้เข้ามาเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ในระยะหนึ่ง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งได้สะท้อนและฉายภาพให้เห็นการบริหารจัดการประสบปัญหาโดยเฉพาะความคล่องตัวบางมิติ การเรียกร้องเพื่อหาแนวร่วมในการที่จะทำให้การอุดมศึกษายกระดับและพัฒนาการไปได้ดีกว่าที่สังกัดภายใต้ร่มของกระทรวงศึกษาธิการจึงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

ความพยายามของชาวอุดมศึกษาหรือผู้บริหาร (กลุ่มหนึ่ง) เพื่อนำองค์กรไปสู่โอกาสที่ดีกว่าจึงตกผลึกที่จะเห็นงานการอุดมศึกษามีบ้านหรือสังกัดใหม่ภายใต้ชื่อ “กระทรวงการอุดมศึกษา” แต่ด้วยระบบราชการและนโยบายของรัฐบาลที่เป็นตัวแปรหรือปัจจัยสำคัญในการจัดตั้งองค์กรใหม่ แต่แนวคิดหรือจุดยืนที่ชาวมหาวิทยาลัยต้องการเห็นกระทรวงที่จะทำหน้าที่ด้านการอุดมศึกษาโดยเฉพาะกลับหาได้เป็นดังหวังไม่ เมื่อคนในรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการเห็นประเทศไทยก้าวไกลสู่ 4.0 ประกอบการกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง งานการอุดมศึกษาจึงถูกแปรสภาพบริบทจากงานอุดมศึกษาล้วนๆ ไปผนวกกับงานวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมภายใต้นาม “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลปัจจุบันถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่ต้องการนำงานการอุดมศึกษาไปควบรวมในสังกัดกระทรวงใหม่ ซึ่งเหตุผลรองรับที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นดูได้จากบทความเรื่อง “การปรับเปลี่ยนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเคยเผยแพร่ผ่านมติชนรายวันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ความตอนหนึ่งว่า “กระทรวงใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นกระทรวงที่ว่าด้วยอนาคตของประเทศ มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจและนวัตกรรม และเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยได้ออกแบบโครงสร้างเชิงอำนาจแต่เป็นโครงสร้างการทำงานแบบเสริมพลังหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษาให้ใช้ทรัพยากรทุกส่วนเพื่อตอบโจทย์ประเทศแบบมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 กระทรวงใหม่จึงเป็นความจำเป็นของประเทศไทยในวันนี้ เพราะประเทศที่มีความก้าวหน้าต่างมีการจัดระบบการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมให้ขีดความสามารถเป็นหลัก” (มติชน 28 มิถุนายน 2561 หน้า 15)

กระทรวงดังกล่าวจึงเป็นความพยายามของรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้ ด้วยความสำคัญและจำเป็นที่ต้องการให้งานการอุดมศึกษาก้าวไปสู่การพัฒนาแห่งอนาคตที่ดีกว่า ในที่สุดปรากฏการณ์ของการก่อเกิดกระทรวงใหม่ก็มีทีท่าว่าจะเป็นจริงในเร็วๆ นี้

สืบเนื่องจากการประชุมสามัญของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2562 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการได้กล่าวถึงความคืบหน้าให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทราบว่าในขณะนี้เตรียมเสนอต่อที่ประชุม สนช.ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ ประเด็นที่สำคัญคือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่รัฐบาลได้เสนอแผนจัดตั้งกระทรวงขึ้น กระทรวงดังกล่าวเป็นกระทรวงต้นแบบที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างชัดเจน เพราะการบริหารงานในส่วนของอุดมศึกษาต้องเป็นเอกภาพ มีอิสระ และที่สำคัญกระทรวงดังกล่าวนี้จะเป็นกระทรวงที่รวมสถาบันอุดมศึกษาที่เชื่อมต่อไปยังแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ลงตัวที่สุด นำไปสู่การพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงที่เป็นข้าราชการในการทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานของสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น

จากความพยายามของชาวอุดมศึกษาที่ต้องการแยกตัวออกมาเพื่อความเป็นอิสระและคล่องตัวในการบริหาร แต่แล้วกลับเกิดปรากฏการณ์ “หนีเสือปะจระเข้” เมื่อ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “ที่ประชุมมีความห่วงใยต่อการขับเคลื่อนอุดมศึกษาของประเทศและไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีกรมการอุดมศึกษาภายใต้กระทรวงใหม่ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯเปลี่ยนจากเดิมที่ต้องการให้กระทรวงใหม่มีความคล่องตัว ไม่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของสถาบันอุดมศึกษา แต่เป็นหน่วยงานที่สนับสนุน ประสานงาน ให้สถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ”

จากปัญหาดังกล่าว ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยยังย้ำว่า “การปรับเปลี่ยนให้เกิดกรมการอุดมศึกษาขึ้นมานั้นอาจทำให้การบริหารเป็นคอขวดอย่างมากเมื่อเทียบกับโครงสร้างเดิม จะเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะมีขนาดเล็กลง และทำให้อุดมศึกษาถูกลดบทบาทลงอย่างมากเพราะบุคลากรต้องกระจายออกไป บางส่วนต้องไปอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวง และกระจายไปยังโครงสร้างอื่นๆ เช่นสำนักงานนโยบาย เกิดความซับซ้อนยุ่งยากเพิ่มขึ้น บทบาทของกรมที่เป็นโครงสร้างในระบบราชการก็จะแข็งตัวมีการทำงานที่ควบคุมมหาวิทยาลัยและไม่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนหน่วยงาน ฯลฯ”
(มติชนออนไลน์ 19 กุมภาพันธ์ 2562)

ในเรื่องเดียวกันนี้ฟากของมหาวิทยาลัยเอกชน ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้ออกมาแสดงทรรศนะและจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการมีกรมการอุดมศึกษาภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯความตอนหนึ่งว่า “เห็นด้วยกับ ทปอ.ในการคัดค้านการทำโครงสร้างกระทรวงใหม่ที่ยังคงแนวคิดเก่าๆ คือการตั้งกรม-กองต่างๆ เพื่อการบริหารงานและรองรับตำแหน่งข้าราชการที่อยู่ในโครงสร้างเดิม วันนี้อุตส่าห์ยุบรวมและตั้งกระทรวงใหม่ทั้งที ทำไมไม่คิดอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้การบริหารคล่องตัวมากขึ้น การยุบรวม สกอ.กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเข้าด้วยกัน โครงสร้างที่ออกมายังเป็นแท่งๆ เหมือนแค่พิธีกรรมในการควบรวม แต่ความเป็นจริงยังต่างคนต่างทำในส่วนของตัวเอง สรุปแล้วถอยหลังเข้าคลองเหมือนเดิม”

และจากกรณีที่ส่งผลให้กระทบต่อการอุดมศึกษาของชาติอันเกิดจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ. ในฐานะผู้ที่มุ่งมั่นและอยากเห็นงานการอุดมศึกษาของชาติยกระดับการพัฒนาและเปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวความตอนหนึ่งว่า “การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาฯมีการกำหนดให้มีกรมการอุดมศึกษาภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 1 โดยส่วนตัวผิดหวังอย่างแรง เพราะในหลักการและเจตนาเดิมที่ทำมาตั้งแต่ต้นคือการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามารวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจะได้ขับเคลื่อนไปด้วยกันโดยมีอุดมศึกษาเป็นผู้นำ เพราะอุดมศึกษาเป็นฐานทุกอย่าง และต้องเข้าใจว่าเนื้องานหรือภารกิจที่สำคัญคืออุดมศึกษา แต่เมื่อปรับอุดมศึกษาไปเป็นกรมภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯก็ผิดหลักที่ทำไว้” ฯลฯ (มติชน 21 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 21)

การเคลื่อนไหวหรือการก่อตัวที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีกรมการอุดมศึกษาอยู่ภายใต้กระทรวงใหม่นี้ทำท่าว่าจะบานปลายและเป็นไฟร้อนพอสมควร ถ้าหากชาวอุดมศึกษาออกมาเคลื่อนไหวจนก่อให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่ความแตกแยกอีกครั้งหนึ่ง ในประเด็นนี้คงจะเป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญและ สนช.ที่จะต้องออกมารับหน้าเสื่อและดับไฟก่อนจะลุกลามไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตามจากกระแสที่มีผู้เห็นต่างกับการที่จะมีกรมการอุดมศึกษามาอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯนั้น หากในที่สุดถ้าไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในร่าง พ.ร.บ. ก่อนที่จะตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป เรื่องนี้คงเป็นตราบาปให้ชาวมหาวิทยาลัยทั้งมวล โดยเฉพาะกับปรากฏการณ์ในบทสรุปที่ว่า “การอุดมศึกษาก้าวหน้าหรือถอยหลัง”

แต่บทสรุปในประเด็นนี้คงต้องรอการดำเนินการของคณะกรรมาธิการวิสามัญและผู้เกี่ยวข้องในการที่จะคลอดพิมพ์เขียวเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตอุดมศึกษาชาติออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป แต่ที่น่ายินดียิ่งล่าสุดมีการแจ้งข่าวแก่สาธารณะว่า ขณะนี้ได้มีการตัดประเด็นของการกำหนดให้มีกรมการอุดมศึกษาออกจากร่าง พ.ร.บ.แล้ว

ที่สำคัญทิศทางอนาคตของการอุดมศึกษาชาติที่ทุกภาคส่วนต้องการผลักดันให้ก้าวข้ามผ่านกับดักแห่งปัญหาที่ตามหลอกหลอนชาวมหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน แต่ พ.ร.บ.ออกมาเป็นหลุมดำที่ยังกลับมาสู่วังวนดังในอดีตก็ไม่ต่างกับความพยายามที่จะหนีเสือ แต่กลับมาปะกับจระเข้ อีกคำรบหนึ่ง

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image