ดีอีเตรียมออกกฎหมายลูกพ.ร.บ.ไซเบอร์บังคับใช้ปี’63 เร่งเตรียมกำลังคนไอทีรองรับ

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(อีดี) เปิดเผยว่า กฎหมายไซเบอร์ หรือร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อยู่ระหว่างขั้นตอนรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเร็ว ๆ นี้ และกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี หลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ดังนั้นกฎหมายจะบังคับใช้ในปี 2563 ทั้งนี้ ในระหว่าง 1 ปีก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้จะมีการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวเนื่องประมาณ 10 ฉบับ รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ แนวทางการปฏิบัติของหน่วงงานต่าง ๆ แนวทางการรายงานข้อมูล เป็นต้น รวมทั้ง จะมีการจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คณะกรรมการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ ตามที่ระบุในกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนที่จะบังคับใช้

“กฎหมายไซเบอร์เป็นเรื่องที่จะบังคับใช้กับหน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ด้านความมั่นคงและบริการภาครัฐ การเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์ พลังงานและสาธารณูปโภค สาธารณสุข ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเข้าดูข้อมูลประชาชนทั่วไปจึงไม่ต้องเป็นกังวล แต่ที่เกี่ยวข้องกับทุก ๆ คน คือ กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติพร้อมกันกับกฏมายไซเบอร์ เพราะไม่ว่าจะเป็นร้านค้าทั่วไป ร้านค้าโอท็อป ร้านอาหาร โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ที่มีการขอข้อมูลจากประชาชนและมีข้อมูลการชำระเงินต่าง ๆ อาจจะต้องมีการให้ผู้ใช้บริการ ต้องอนุญาตหรือเซ็นต์ยินยอมหากจะมีการนำข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ เพื่อเป็นการคุ้มครองดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน” นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าว

นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ดำเนินการต่อเนื่องโดยมีการตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตั้งแต่ปี 2561 มีการจัดทำกรอบแนวคิดนโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อปกป้อง รับมือ ป้องกัน และลดความเสี่ยงภัยทางไซเบอร์ให้ความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ยังได้มีแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะเร่งด่วน โดยใช้งบจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) 130 ล้านบาทคาดว่าใน 12 เดือน จะพัฒนาบุคลากร 1,000 คน เน้นในกลุ่มภาครัฐก่อน ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะมีความตื่นตัวและความต้องการพัฒนาบุคคลกรทั้งรัฐและเอกชนรองรับอีก 4,500 คน ภายใน 3 ปี

เกาะกระแสเศรษฐกิจใกล้ตัวกับมติชน เป็นเพื่อนกันได้ที่นี่

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image