โกงออนไลน์ ปี’61 เสียหายทะลุ 500ล้านบ. กสิกรไทยเตือนใช้สติป้องกันสตางค์ ป้องกันภัยฟิชชิ่ง-หลอกผ่านออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์  

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ความเสี่ยงของภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพหรือแฮกเกอร์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและรูปแบบการหลอกลวงซับซ้อนและมีวิธีการหลายรูปแบบ ทั้งการโจรกรรมข้อมูล หลอกลวงหรือการยักยอกเงิน ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยมากยิ่งขึ้น ในปี 2561 ประเทศไทยพบคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดซึ่งมีระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ จำนวน 973 คดี คิดเป็น 35% ของคดีที่มีการแจ้งความทั้งหมดกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 500 ล้านบาท โดยมีรูปแบบครอบคลุมตั้งแต่การหลอกขายสินค้า หลอกโอนเงินผ่านอีเมล หลอกโอนเงินผ่านโทรศัพท์ ปลอมเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกโอนเงิน ด้วยวิถีชีวิตที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้มิจฉาชีพใช้กลโกงหาช่องทางและสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้คนหลงเชื่อ และคิดว่าตนเองจะได้รับผลประโยชน์มากมายได้โดยง่าย

นายพิพิธ  กล่าวว่า ธนาคารตระหนักถึงภัยไซเบอร์จึงได้พัฒนาทั้งด้านระบบการปฏิบัติงาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ตลอดจนศักยภาพของบุคลากร เพื่อรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงการป้องกัน การติดตามตรวจจับ การรับมือ และการเยียวยาฟื้นฟู เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการของธนาคาร นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่ลูกค้าถึงวิธีการใช้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย ล่าสุดได้ออกแคมเปญ “สติ” รณรงค์ให้คนไทยมีสติ ไม่ตื่นตระหนกเมื่อเจอเหตุการณ์ที่อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ ผ่านแฮชแท็กที่จำได้ง่ายๆ คือ #ใช้สติป้องกันสตางค์ โดยมุ่งเน้น 3 ภัยไซเบอร์ที่มีประชาชนตกเป็นเหยื่อบ่อยครั้ง ได้แก่ ฟิชชิ่ง เทคนิคหลอกลวงทางอีเมล เอสเอ็มเอส หรือหน้าเว็บไซต์ปลอม การหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้าง หรือสวมตัวตนเป็นเหยื่อ แล้วไปทำทุจริต หรือหลอกลวงบุคคลอื่นจนทำให้เกิดความเสียหาย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นขบวนการหลอกเหยื่อทางโทรศัพท์โดยสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนกหรือเข้าใจผิดอาจเกิดความเสียหาย

“ปัจจุบันประชาชนนิยมใช้งานสื่อโซเชียลในการติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรมทางการเงิน โอนเงินชำระค่าสินค้าหรือซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมิจฉาชีพเองก็อาศัยช่องทางเหล่านี้ในการหลอกลวงหรือฉ้อโกงเงินมากขึ้น โดยรายงานความเสี่ยงระดับโลกประจำปี 2019 ของสภาเศรษฐกิจโลกระบุว่าการโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ ถือเป็น 1 ใน 10 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก และเป็นความเสี่ยงสำคัญของระบบการเงินของโลกและไทย” นายพิพิธ กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image