อาเซียนตั้ง”ศูนย์องค์ความรู้ขยะทะเล” “บิ๊กเต่า”ชี้ ไทยมีแผนจัดการพร้อมทุกด้าน

อาเซียนตั้ง”ศูนย์องค์ความรู้ขยะทะเล” “บิ๊กเต่า”ชี้ ไทยมีแผนจัดการพร้อมทุกด้าน

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่โรงแรมสุโขทัย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงข่าว ถึงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล (Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris) โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วม ว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับขยะที่เคลื่อนจากแผ่นดินออกสู่ชายฝั่งทะเล เป็นสาเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้รับความเสียหาย สัตว์ทะเลบาดเจ็บและตาย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาทางทะเล เศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยว โดยภาพรวมที่ผ่านมาประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งปัญหาขยะเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และได้ก่อให้เกิดผลกระทบทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อห่วงโซ่อาหาร ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง เพราะขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่สุดแล้วก็จะไหลลงสู่ทะเล ทำให้ในทะเลมีขยะจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมในทะเล ทั้งนี้เรื่องขยะถือเป็นภารกิจพิเศษที่อยู่ในยุทธศาสตร์ของประเทศไทย และบทบาทความร่วมมือกับนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำที่จะยกระดับความร่วมมือในการจัดการปัญหาขยะทะเลให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

Advertisement

รัฐมนตรี ทส. กล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงแผนการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในด้านการอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลกในการการรับมือและลดปัญหาขยะทะเล ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นปัญหาข้ามพรมแดนและรับทราบถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการต่อต้านปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคนี้ ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนและข้อปฏิบัติสำหรับอาเซียนในการป้องกันและลดปัญหาขยะทะเล ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์ ซึ่งมี 2 ฉบับ คือ 1.ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะในภูมิภาค 2.กรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งด้านนโยบายการบริหารที่จะช่วยลดปริมาณขยะทะเล โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้จะถูกนำเสนอเพื่อขอการรับรองในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนในเดือนมิ.ย.นี้

พล.อ.สุรศักด์ กล่าวว่า ทั้งนี้บรรยากาศในการประชุมเต็มไปด้วยความตื่นตัว เพราะทุกคนเข้าใจถึงปัญหาตรงกันว่ามนุษย์เป็นตัวการสำคัญเป็นภัยคุกคามต่อทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะในประเทศไทย มีประชากรด 67 ล้านคน และนักท่องเที่ยว 38 ล้านคนต่อปี ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาล และหากจัดการไม่มีประสิทธิภาพบางส่วนก็ลงสู่ท้องทะเล เราเห็นข่าวบ่อยๆ ว่ามีสัตว์ทะเลหายาก ทั้งวาฬ และเต่าทะเลตายลง เมื่อผ่าพิสูจน์ก็พบซากขยะอยู่ท้อง ซี่งตนมั่นใจว่าขยะเหล่านี้ไม่ได้มาจากประเทศไทยอย่างเดียว ในที่ประชุมแต่ละประเทศได้มีการพูดคุยว่ามีแผนอย่างไรในการลดขยะทะเล ซี่งเวทีนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความใจ และการร่วมมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล และจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อลดปัญหาดังกล่าว โดยในกรอบปฏิบัติงานว่าด้วยการขยะทะเลอาเซียนจะมีการคุยกันถึงเรื่องต่อชี้วัดว่าต้องมเรื่องใดบ้าง เช่น ประเทศในอาเซียนต้องตั้งเป้าลดการใช้ขยะพลาสติกลงร้อยละ 5 เป็นต้น รวมทั้งมีข้อตกลงในการจัดตั้งศูนย์องค์ความรู้ขยะทะเลในอาเซียน โดยให้ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเรื่องขยะพลาสติก และขยะทะเลภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายไทยเสนอว่าควรจะมีสาขาของศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณประเทศลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เพราะลุ่มน้ำโขงเป็น 1ใน 10 แม่น้ำสายสำคัญของโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเล

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นในการประชุมกลุ่มประเทศพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ ( จี 20 ) ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ จะมีการประชุมในวาระพิเศษรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม และผู้นำในกลุ่มอาเซียนได้รับเชิญไปกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมดังกล่าวว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการปัญหาขยะทะเลด้วย ส่วนกรณีข้อมูลที่ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลกนั้น เป็นข้อมูลช่าวเก่าเมี่อปี 2015-2016 ซึ่งในปัจจุบันเราได้ดำเนินการตามแผนจัดการขยะ และลดการใช้พลาสติก โดยเราสามารถลดใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดหรือแคปซีลได้ 520 ตันต่อปี ลดการใช้โฟมได้ร้อยละ 50 ต่อปี รวมทั้งเรายังมีแผนในการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในปี 2563 และจะมีการรีไซเคิลขยะพลาสติกร้อยละ 100 ในปี 2573 ตลอดจนกว่ายกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอต่อครม. จำนวน 422 รายการ เชื่อว่าการบริหารจัดการขยะของประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพขึ้นและลดขยะลงสู่ทะเลได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image