กสิกรไทยเผยสองเดือนค่าบาทผันผวนพุ่ง5.1% แนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีก

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ค่าเงินบาทปี 2562 คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างผันผวนต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา โดยเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม 2562 หลังจากแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าเข้าใกล้แนว 31.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าของวันนี้ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-31.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐท่ามกลางแรงกดดันที่มาจากหลายด้านทั้งปัจจัยในประเทศ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างดี และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์)สหรัฐ ภายหลังจากที่มีสัญญาณเชิงบวกจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

รายงานข่าว ระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพที่ค่อนข้างเร็วและมากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และจากทิศทางของเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในช่วงนี้ ทำให้เมื่อเทียบภาพรวมการเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2562 แล้ว เงินบาทกลับมาเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.2% สลับกับค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเวีย ที่ขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้วยอัตราการแข็งค่าที่ 3.0% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่คงต้องยอมรับว่า ค่าความผันผวนของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ขยับขึ้นมาที่ 5.1% สูงขึ้นกว่าค่าความผันผวนของปี 2561 ที่อยู่ที่ 4.6% ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ โดยการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งฟอร์เวิร์ด และออปชัน รวมถึงการใช้สกุลเงินท้องถิ่น จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถประเมินกระแสรายรับ-รายจ่าย จากการส่งออก-นำเข้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

“ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะใกล้ๆ นี้ จะมีทั้งปัจจัยภายในประเทศ อาทิ ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย และปัจจัยทางการเมือง และปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีการดำเนินนโยบายการเงิน และรายงาน Dot plot จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 19-20 มีนาคม 2562 ตลอดจนกำหนดการพบกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ และจีน ในวันที่ 27 มีนาคม 2562 ซึ่งแม้จะมีสัญญาณในเชิงบวก แต่คงต้องยอมรับว่า ยังคงคาดเดารายละเอียดของผลการเจรจา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายได้ยากในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางการเมืองภายในสหรัฐที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยเช่นกัน” รายงายข่าวระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image