ธปท.แจงส่งออกชะลอตามการค้าโลก ย้ำดูแลค่าบาทใกล้ชิด แนะส่งออก-นำเข้าป้องกันเสี่ยง

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.3% เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศเพื่อนบ้าน และการแข็งค่าเงินบาท รวมถึงความผันผวนของเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งนี้ ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ได้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว ในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ตามความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ดังนั้น ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งการกำหนดราคาสินค้าในรูปเงินบาทหรือเงินสกุลคู่ค้า ผู้ประกอบการที่ในอนาคตมีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศอาจฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (เอฟซีดี) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน หรือการเข้าร่วมโครงการการป้องกันความเสี่ยงระยะที่ 2 ที่ขยายวงเงินค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสามารถซื้อออพชั่น หรือ ล็อคเรทค่าเงิน ประกันความเสี่ยงจาก 30,000 บาทเป็น 50,000 บาทต่อราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถล๊อคเรทมูลค่าประมาณ 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 4.75 ล้านบาท

“สรท. และธปท.เห็นร่วมกันว่าบรรยากาศการค้าโลกในปีนี้โดยรวมเศรษฐกิจโลกจะท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการส่งออกของไทยที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากบรรยากาศการค้าโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้ง การปรับลดสต็อกของผู้ประกอบการจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าและผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มชะลอลง เช่น การส่งออกของสิงคโปร์ที่ติดลบมากกว่า 10% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผลกระทบของค่าเงินต่อการส่งออกมีไม่มาก และความสัมพันธ์ของสองเรื่องนี้ไม่ชัดเจน ดังที่เห็นได้จากการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ชะลอลง แม้ค่าเงินของเค้าจะไม่ได้แข็งค่าเท่าเงินบาท ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และจะช่วยให้มีอำนาจในการกำหนดราคาได้ดีขึ้นในระยะยาว” นางสาววชิรา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image