สกศ.ยกเครื่องมาตรฐานการศึกษาไทย ก้าวทันโลกยุคใหม่ ไทยแลนด์ 4.0

         ในวันที่โลกหมุนเร็ว ยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีรุดหน้า ทำให้โลกยุคใหม่ไม่เหมือนเดิม การศึกษาในฐานะที่เป็นพื้นฐานหลักในการเรียนรู้ของมนุษย์ จึงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับแรกที่จัดทำในปี พ.ศ. 2547 ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน และขณะนี้มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดสัมมนาวิชาการ “มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0 ครั้งที่ 2” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่บุคลากรด้านการศึกษาในทุกระดับและประเภทการศึกษา ในการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติไปใช้ และพัฒนาหลักสูตรยกระดับคุณภาพของคนไทยให้มีประสิทธิภาพในยุค 4.0 โดยที่ธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก

         โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ความว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2561 ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้แตกต่างจากมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2549 อย่างชัดเจน โดยแผนฉบับปัจจุบันมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education, DOE)  3 ด้านเป็นสำคัญ อันได้แก่ 1.ผู้เรียนรู้ 2.ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 3.พลเมืองที่เข้มแข็ง ภายใต้คุณภาพและมาตรฐานที่ต้องไปด้วยกัน

Advertisement

         “มาตรฐานเป็นคำที่กว้างมาก จะต้องสื่อสารให้ดี ว่ามีมาตรฐานการศึกษาเป็นกรอบที่มุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ ไม่ใช่เป็นกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การประเมิน เน้นให้มีความเหมาะสมของการศึกษาทุกระดับ ทุกช่วงวัย โดยที่คุณภาพการศึกษาจะต้องสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนแต่ละแห่ง คุณภาพการศึกษาทุกระดับจะต้องส่งต่อคุณภาพหรือคุณค่าของการศึกษา เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศึกษากล่าว

         ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การศึกษาหรือในการทำงาน ต้องเน้นสมรรถนะพื้นฐาน (Competency base) เช่น การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) การสื่อสาร (Communication) และการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) และภาษาอังกฤษ เพื่อให้กลายเป็นคนไทย 4.0 มีความรู้ มีทักษะ มีสมรรถนะสูง เป็นคนไทยที่ทันสมัย ทันโลก ทันเทคโนโลยี ทำประโยชน์ให้กับประเทศได้ ผลักดันประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน หลุดพ้นจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลาง

Advertisement

         ดร.สุภัทร  จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 เป็นข้อกำหนดกรอบกว้างเกี่ยวกับคุณลักษณะเชิงคุณภาพของสิ่งที่พึงประสงค์ (Desired Outcomes of Education หรือ DOE) สำหรับสมรรถนะ (Competency) ของคนไทยในอนาคต ซึ่งขอให้สถานศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกแห่งได้ใช้เป็นกรอบในการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาของมาตรฐานการศึกษาของชาติมุ่งหวังเพื่อให้คนไทยสามารถมีสมรรถนะ (Competency) ในการเป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้สร้างนวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งของประเทศ การทำงานของสภาการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ว่าจะสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเยาวชนไทย

         “สภาการศึกษาเป็นแค่คนวางกรอบ ซึ่งเราต้องการเห็นคนไทยแต่ละระดับที่ได้รับการศึกษาในระบบมีสมรรถนะที่เป็นทักษะความรู้ (Knowledge Skill) ทัศนคติ (Attitude) อย่างไรบ้าง ที่จะต้องนำไปใช้ในการพัฒนาต่อในอนาคต แต่วิธีการที่จะให้ผู้เรียนไปถึงระดับนั้นเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาซึ่งจะไปสอดคล้องกับเรื่องประกันการศึกษาว่า แต่เดิมประกันการศึกษาจะไปคุยเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) ไปคุยถึงเรื่องของการการันตีกระบวนการจัดการเรียนการสอน แต่ปัจจุบันเราให้สถาบันการศึกษาสามารถออกแบบระบบได้เอง สุดท้ายผู้เรียนในแต่ละระดับชั้นควรจะมีคุณลักษณะอย่างไรให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของระดับนั้นๆ” เลขาธิการสภาการศึกษากล่าว

         ทั้งนี้ภายในงานสัมมนายังมีเวทีเสวนา เรื่อง มาตรฐานการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาสู่การปฏิบัติ : การดำเนินงานระดับชาติ โดยมี ดร.วัฒนาพร  ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.วิษณุ  ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ดร.สมพร  ชูทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยพาณิชยการเชตุพน นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและประเมินผลอุดมศึกษา รักษาการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา และนางสาวขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. มาแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ร่วมสัมมนากว่า 600 คน

         บนเวทีสัมมนานั้น มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาในแนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ในรูปแบบของผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา หรือ DOE (Desired Outcomes of Education) ที่จะทำให้สถาบันการศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอนเองได้ ตามบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยที่ผลลัพธ์ท้ายที่สุด คือ มาตรฐานการศึกษา 3 ข้อ ได้แก่ ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นคุณสมบัติของผู้เรียนที่ต้องมีเป็นพื้นฐาน สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ทั้งนี้บุคลากรในแวดวงการศึกษาจะต้องมี 3 A คือ Awareness (ความตระหนักอยากพัฒนา) Action (ลงมือปฏิบัติ) Achievement (ดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ)

         อย่างไรก็ตามในช่วงบ่าย จากเวทีเสวนาจัดเป็นการอภิปรายกลุ่มย่อย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำมาตรฐานการศึกษาสู่การปฏิบัติ : การดำเนินงานในสถานศึกษา เป็น 3 ห้อง คือ 1.การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาปฐมวัย 2.การอาชีวศึกษา และ 3.การอุดมศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติไปจัดทำกรอบมาตรฐานและหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบัน สำหรับบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษา พ.ศ.2561 อย่างไรบ้าง

         นางสาวบุญสุพร เพ็งทา ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 กล่าวว่า มาตรฐานการศึกษา พ.ศ.2561 ในยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีกรอบให้แล้ว จากนั้นสถานศึกษาจะนำไปทำมาตรฐานของสถานศึกษาขึ้นมาเอง ในฐานะศึกษานิเทศก์ต้องนำมาตรฐานการศึกษาใหม่นี้ไปสร้างความเข้าใจให้กับครูและผู้บริหาร ให้แนวคิด แนวทางแก่สถานศึกษา เพื่อที่สถานศึกษานั้นจะนำกรอบมาตรฐานการศึกษาไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุและสอดคล้องกับมาตรฐาน 3 ข้อที่กำหนดมา

         “เมื่อเปรียบเทียบมาตรฐานการศึกษาแบบเดิมกับแบบใหม่ ส่วนตัวรู้สึกว่ามาตรฐานการศึกษาแบบใหม่ดีกว่า เพราะเปิดกว้างให้โรงเรียนทำและคิดขึ้นมาเอง ในส่วนของหลักสูตรต้องมาพิจารณาว่าจะเข้าตามหลักเกณฑ์ ที่ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) กำหนดอย่างไร” บุญสุพรกล่าว

         นางสาวทิพวรรณ ศรีชัย ครูผู้ช่วย รร.วัดบุณยประดิษฐ์ (โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร) กล่าวว่า มาตรฐานการศึกษา พ.ศ.2561 สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่ามาตรฐานการศึกษาเดิม เนื่องจากมาตรฐานการศึกษาแบบเดิมมีตัวชี้วัดที่กำหนดในรายละเอียดเป็นจำนวนมาก บุคลากรบางส่วนก็ไม่เข้าใจในรายละเอียดเท่าที่ควร แต่สำหรับมาตรฐานการศึกษา พ.ศ.2561 เป็นกรอบกว้างๆ  สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายและมีความเข้าใจมากกว่า อย่างไรก็ตามสถานศึกษาต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานต้นสังกัด คือ กรุงเทพมหานคร กำหนดด้วยเช่นกัน

         นายพิชเชฎฐ์  สุคนธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กล่าวว่า มาตรฐานการศึกษา พ.ศ.2561 นั้น เป็นกรอบในการดำเนินงานที่จะพัฒนาผู้เรียน เน้นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองจะจัดการหลักสูตรให้ครอบคลุมสอดคล้องทั้ง 3 ด้าน ใช้การเรียนการสอนแบบโครงงาน เรียนรู้จากปัญหา และการทำกิจกรรม สถาบันจะดำเนินการแบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยสถานประกอบการนั้นจะเป็นผู้สะท้อนว่านักศึกษาของสถาบันตรงกับความต้องการของตลาดและมีคุณลักษณะทั้ง 3 ด้านหรือไม่อย่างไร

         การสัมมนาวิชาการ เรื่อง มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0 มีแผนดำเนินการต่อไป ในอีก 4 จังหวัด ให้ครบทุกภูมิภาค เพื่อให้ความรู้ด้านมาตรฐานการศึกษา พ.ศ.2561 แก่บุคลากรทางการศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยครั้งที่ 3 จะจัดขึ้น ณ จ.อุบลราชธานี ครั้งที่ 4 ณ จ.เชียงราย ครั้งที่ 5 จ.อุดรธานี และครั้งที่ 6 จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งท่านที่ต้องการทราบว่ามาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่เป็นอย่างไรสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ “คู่มือมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561” ในเว็บไซต์ http://www.onec.go.th/index.php/book/BookView/1651 หรือสแกนคิวอาร์โค้ด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image