พิษส่งออกกระทบยอดใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพี ม.ค.หดตัว2%

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) เดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 5,734.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.08% คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 74.60% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ 5,323.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.82% และภายใต้จีเอสพี 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.62% โดยการใช้สิทธิประโยชน์ฯที่ลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2562 ที่ลดลง 5.65% เพราะได้รับผลกระทบมาจากสงครามการค้า การผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของหลายประเทศ

นายอดุลย์กล่าวว่า หากดูเฉพาะการใช้สิทธิประโยชน์ฯภายใต้เอฟทีเอที่มีกับ 12 ประเทศ พบว่า ตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 2,052.36 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ จีน มูลค่า 1,243.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 705.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 642.29 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 354.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดที่มูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด คือ เปรู เพิ่ม 90.43% เกาหลี เพิ่ม 18.88% และอินเดีย เพิ่ม 12.66% โดยข้อตกลงเอฟทีเอที่มีการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ไทย-เปรู เพิ่ม 114.74% ไทย-ชิลี เพิ่ม 101.20% ไทย-ญี่ปุ่น เพิ่ม 99.37% อาเซียน-เกาหลี เพิ่ม 94.11% และอาเซียน-จีน เพิ่ม 90.18% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม ข้าว และกุ้งอื่นๆ แช่แข็ง

นายอดุลย์กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) โดยได้มีการปรับพิกัดศุลกากรฉบับปี 2012 เป็น 2017 มีสินค้ากว่า 5,000 รายการ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะส่งออกไปอาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะต้องขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AANZ ใหม่ ซึ่งกรมจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2562 เป็นต้นไป ส่วนอินโดนีเซียที่เพิ่งปรับมาใช้ Form AANZ กรมจะเริ่มให้บริการออกหนังสือรับรองได้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2562 โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็คือ ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิภายใต้ AANZFTA ที่มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเข้มงวดน้อยกว่าเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งจะทำให้ไทยส่งออกไปออสเตรเลียได้ง่ายขึ้น และปัจจุบันผู้ประกอบการก็เริ่มหันมาใช้สิทธิภายใต้ AANZFTA เพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น 88% สินค้ารถกระบะสูงสุดอันดับ 1 มีมูลค่าการใช้สิทธิกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วน 45.26% ของมูลค่าการใช้สิทธิทั้งหมด

นายอดุลย์กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิจีเอสพีที่ไทยได้จาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น เดือน ม.ค.2562 ที่มีมูลค่า 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.62% หรือมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 55.86% เป็นการใช้สิทธิภายใต้ระบบจีเอสพีสหรัฐสูงสุด 96% ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพี มีมูลค่า 396.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.45% หรือมีสัดส่วน 64.24% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิจีเอสพี ซึ่งมีมูลค่า 617.39 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯภายใต้ระบบจีเอสพีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่นๆ และเลนส์แว่นตา

Advertisement

“ปี 2562 กรมได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯที่มูลค่า 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ปัจจัยจากการส่งออกของไทยมีแนวโน้มการขยายตัว โดยเฉพาะในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และการพัฒนาระบบการให้บริการของกรมเพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่คาดว่าจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยให้เติบโต” นายอดุลย์กล่าว

 

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

 

<img class=”” src=”http://qr-official.line.me/L/muIiTR5dQ-.png” width=”241″ height=”206″ />

 

<a href=”https://line.me/R/ti/p/%40oex3158u“><img src=”https://scdn.line-apps.com/n/line_add_friends/btn/en.png” alt=”เพิ่มเพื่อน” height=”36″ border=”0″ /></a>

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image