นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทำให้กับทำเอง

เพื่อนผู้ติดตามชมการปราศรัยใหญ่หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า เวทีของพรรคอนาคตใหม่นั้นไม่ “มืออาชีพ” เลย มีแผ่นป้ายขนาดใหญ่ห้อยอยู่ข้างหลังเพียงแผ่นเดียว แล้วผู้ปราศรัยก็ขึ้นมาหาเสียงบนเวทีโล่งๆ นั้น เปรียบเทียบกับเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทย จะเห็นว่าเป็นคนละชั้นกันเลย เพราะพรรคเพื่อไทยนั้นจัดเวทีเป็นชั้นๆ จากชั้นหน้าสุดซึ่งเป็นตำแหน่งของผู้ปราศรัย ถอยไปเป็นที่นั่งของแกนนำและผู้สมัครรับเลือกตั้งในถิ่นนั้นของพรรค ถอยไปอีกเป็นชั้นของแกนนำ แฟนานุแฟน ก่อนจะถึงแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่สูงพอจะบีบสายตาคนดูให้อยู่บนเวที

ผมเตือนเขาว่า จัดแบบให้ดูดีเช่นนั้นคงต้องลงทุนเป็นแสนกระมัง ความตั้งใจของผมที่ไม่ได้พูดก็คือ ในฐานะผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ผมไม่อยากเห็นเขาใช้เงินหาเสียงไปในลักษณะนั้น

แต่ผมมาคิดในภายหลังว่า ความต่างของอนาคตใหม่กับพรรคการเมืองอื่น (ไม่เฉพาะแต่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น) มีมากกว่าการจัดเวทีปราศรัย และเวทีปราศรัยไม่ว่าจะจัดในลักษณะใด ก็ล้วนสื่อความหมายอะไรบางอย่างทั้งสิ้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าความหมายที่เวทีสื่อออกมานั้น ตรงตามความต้องการของพรรคหรือไม่

ผมคิดว่า เวทีลุ่นๆ ที่ไม่ดึงดูดสายตาเป็นพิเศษ คือเวทีสำหรับการปรึกษาหารือ ในขณะที่เวทีซึ่งโอฬารซับซ้อน (เป็นฉากทัศนา หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า spectacle) คือเวทีสำหรับบอกกล่าวในลักษณะสะกดผู้ฟัง หากพูดแบบมาร์แชล แมคลูฮ์น นักทฤษฎีสื่อสารมวลชนคนหนึ่งก็คือ เวทีลุ่นๆ เป็นเหมือนวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ซึ่งเอื้อต่อการสื่อสารสองทาง แต่เวทีโอฬารเหมือนโทรทัศน์ ซึ่งสะกดผู้ชมให้เป็นฝ่ายรับสารโดยดุษณีทางเดียว

Advertisement

ผมไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใด และห่างไกลจาก “วงใน” ของทุกพรรคการเมือง จึงไม่ทราบว่า สารที่เวทีสองชนิดสื่อออกมานั้น ตรงตามเจตนารมณ์และยุทธศาสตร์หาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูเนื้อหาของการหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ ผมคิดว่าสารของเวทีลุ่นๆ ดูจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคอย่างมาก

นโยบายหลักของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งพูดไว้ในหลายเวทีก็คือ “ประชาธิปไตย” เพราะถ้าไม่มีประชาธิปไตย อนาคตใหม่คิดว่าจะดำเนินนโยบายอื่นที่พูดไว้ไม่ได้เลย และประชาธิปไตยนั้น หัวหน้าพรรคกล่าวว่า ตัวเขาคนเดียว หรือเลขาธิการพรรคคนเดียวก็สร้างไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือร่วมใจกันในหมู่ผู้เลือกตั้งหรือประชาชนทุกคน จนเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ข่าวสดพาดหัวข่าวนี้ว่า “สังคมดีไม่มีขาย”

Advertisement

กล่าวโดยสรุป นโยบายของพรรคอนาคตใหม่เสนอให้ประชาชน “ทำเอง” แทนที่จะเสนอแนวทางการ “ทำให้” อย่างพรรคการเมืองทั่วไป

แน่นอนว่า การหาเสียงย่อมต้องบอกด้วยว่าหากได้เป็นหรือร่วมรัฐบาลแล้ว จะทำอะไร แต่หลายอย่างที่อนาคตใหม่เสนอว่าจะทำหากได้เป็นหรือร่วมรัฐบาล มักเป็นเพียงการเปิดช่องทางให้สามารถ “ทำเอง” ได้สะดวกขึ้น เช่น นโยบายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นด้วยการเพิ่มอำนาจตัดสินใจ อำนาจทางการคลัง และอำนาจในการเลือกวิถีทางการพัฒนาของท้องถิ่นเอง ฉะนั้นท้องถิ่นจะเป็นอย่างไรภายใต้นโยบายของอนาคตใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ เลือกที่จะ “ทำเอง” อย่างไร

ดังที่กล่าวแล้วว่า พรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ และครั้งก่อนๆ ทุกครั้ง มักเสนอนโยบายประเภท “ทำให้” แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพรรคการเมืองอื่นล้าหลังกว่าพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องเสนอเช่นนั้นก็เพราะเงื่อนไขเชิงโครงสร้างของระบบปกครองของไทยเอง

สังคมหรือชุมชนใดก็ตาม ที่จะสามารถ “ทำเอง” ในกิจการอันเป็นสาธารณะได้นั้น เกิดขึ้นจากการที่ทรัพยากรถูกกระจายไปอยู่ในมือของทุกคน (หรือคนส่วนใหญ่) เช่น ทุกครอบครัวในชุมชนเป็นเจ้าของน้ำเท่าๆ กัน จะใช้น้ำในเหมืองอย่างไรให้ทั่วถึงจึงต้องมาร่วมกันคิดและตกลงพร้อมใจกัน แต่ถ้าน้ำอยู่ในอำนาจจัดการดูแลควบคุมของผู้ใหญ่บ้านคนเดียว ในการเลือกตั้ง ผู้ใหญ่ก็ต้องเสนอวิธีกระจายน้ำที่คาดว่าน่าจะเป็นที่พอใจของทุกคนที่สุดมาเสนอเพื่อหาเสียง นั่นก็คือจะ “ทำให้” อย่างไร จึงจะได้รับการสนับสนุนจากลูกบ้านมากที่สุด

ระบบปกครองไทยไม่ได้กระจายทรัพยากรไปอยู่ในมือของประชาชนอย่างใกล้เคียงกัน จะแก้ปัญหาอะไรก็ตาม นับตั้งแต่รถติด (การใช้ทรัพยากรถนน), อากาศเป็นพิษ (ทรัพยากรอากาศ), ซื้อหรือไม่ซื้อเรือดำน้ำ (ทรัพยากรงบประมาณ), ฯลฯ จึงต้องเป็นนโยบายประเภท “ทำให้”

นโยบาย “ทำเอง” จะเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างการปกครองแบบนี้ไม่ได้ จนกว่าจะได้จัดให้ทรัพยากรถูกกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ดังที่พรรคอนาคตใหม่ต่อต้านการบริหารทรัพยากรรวมศูนย์ แต่การกระทำเช่นนี้แทบจะเป็นการ “ปฏิวัติ” ประเทศไทย และนั่นคือเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่ถูกปรปักษ์โจมตีว่า ถอนรากถอนโคนเกินไปจนนำไปสู่ความขัดแย้ง

แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่อนาคตใหม่ได้รับแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก “คนรุ่นใหม่” ก็คงเป็นเพราะนโยบาย “ทำเอง” นี่แหละ ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนต่างต้องทนอยู่กับนโยบาย “ทำให้” ซึ่งไม่บังเกิดผลจริงตลอดมา ธรรมชาติของรัฐบาลรัฐประหารทุกชุดก็เป็นอย่างนี้แหละ คือสัญญาว่าจะ “ทำให้” อย่างดีเยี่ยมกว่านโยบาย “ทำให้” ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ฉะนั้น “คนรุ่นใหม่” ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่จึงไม่น่าจะมีเฉพาะกลุ่มคนหนุ่ม-สาวเท่านั้น แต่น่าจะรวมคนทุกวัยที่เอือมระอาต่อการ “ทำให้” มานานแล้ว แน่นอนว่าคนในวัยที่พ้นวัยรุ่นไปแล้วย่อมมีน้อยกว่า เพราะเขาย่อมเคยชินกับการ “ทำให้” อย่างน้อยก็เอาตัวรอดได้จากระบบ “ทำให้” จนพอจะเงยหน้าอ้าปากได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะ “ทำให้” หรือ “ทำเอง” ก็ล้วนมีเสน่ห์ในตัวเองทั้งสิ้น อันไหนจะเป็นที่นิยมกว่ากันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายๆ อย่างในแต่ละช่วงเวลา, แต่ละช่วงวัย, แต่ละช่วงสถานภาพ, ฯลฯ ชัยชนะของ Donald Trump ก็มาจากนโยบาย “ทำให้” ในการหาเสียง ไม่ว่าปัญหาอะไร เขาก็ล้วนมีคำตอบสำเร็จรูปที่ตรงใจผู้ลงคะแนนเสียงทั้งสิ้น ซ้ำยังเป็นคำตอบที่ได้ยินอยู่หนาหูในหมู่คนอเมริกันมานานแล้วด้วย (เช่น สร้างกำแพงกันไม่ให้ผู้อพยพเข้าสู่อาณาจักรของผู้อพยพ, ฟาดฟันทุกฝ่ายที่ไม่เคารพทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกัน, อย่ายอมให้บริษัทใหญ่ย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศง่ายๆ, สหรัฐไม่มีหน้าที่เสียสละเพื่อความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมแต่ผู้เดียว, ฯลฯ) ส่วนจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องจริงหรือไม่ เป็นอีก
เรื่องหนึ่ง

นโยบาย “ทำเอง” ของอนาคตใหม่ อาจถูกใจผู้เลือกตั้งกลุ่มใหญ่ในเวลานี้ แต่ไม่จำเป็นว่าจะถูกใจคนส่วนใหญ่หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image