ผู้ว่าฯตรวจรง.เครปยางอุดรทิ้งน้ำเสีย สั่งเร่งปรับปรุงบ่อบำบัด เจ้าของวอนเห็นใจ โอดหยุดเดินเครื่องขาดรายได้

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมว่าที่ รต.รักชัย เลิศสุบิน นายอำเภอหนองหาน , นายชัชพงษ์ ศิริรักษ์ หัวหน้ากลุ่มโรงงานฯ สำนักงานอุตสาหกรรมอุดรธานี ผู้แทน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอุดรธานี , นายกเทศมนตรีตำบลผักตบ , ตัวแทนชาวบ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานยางเครป บ.ปริ้นซ์ รับเบอร์ จก. ตั้งอยู่บ้านป่าก้าว หมู่ที่ 12 ต.ผักตบ หลังมีการร้องเรียนปัญหามลพิษกลิ่นเหม็น โดยมีนางปรินดา สุวรรณสว่าง เจ้าของโรงงาน นำตรวจพื้นที่ ขณะที่มีชาวบ้านบางส่วนชุมนุมรอนอกโรงงาน

นายชัชพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ชาวบ้านรวมตัวร้องเรียนโรงงานลักลอบปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยยาง จนเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพบระบบบำบัดน้ำเสียมีปัญหา, กองวัตถุดิบกองบนลานคอนกรีตเปิดโล่งกลิ่นเหม็น, มีการต่อท่อขนาด พีวีซี 4 นิ้วจากบ่อบำบัดน้ำเสียออกนอกโรงงาน จึงมีคำสั่งตาม ม.37 ให้โรงงานจัดการกองวัตถุดิบ , ระบบบำบัดน้ำเสีย , ไม่ให้ออกสู่พื้นที่ภายนอก ตลอดจนรื้อถอนท่อขนาด พีวีซี.

“ได้เก็บตัวอย่างน้ำที่บำบัดแล้ว และในลำห้วยยางนอกโรงงาน ส่งศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าเกินกว่ากำหนดมาตรฐานน้ำทิ้ง จึงขอความร่วมมือโรงงาน งดรับวัตถุดิบยางก่อนด้วย และขนยางเครปออกจากโรงงาน ซึ่งโรงงานไม่มีการผลิต ไม่รับซื้อวัตถุดิบเพิ่ม ไม่มีกองยางเครป และรื้อถอนท่อ พีวีซี.ออก ตั้งแต่ทางราชการมีคำสั่ง หลังปรับปรุงนำระบบกรอง มาเพิ่มเติมจากการเต็มอากาศ ยังไม่สามารถมีความเห็นได้ ว่าระบบที่ปรับปรุงจะแก้ไขปัญหาได้ ต้องรอผลการตรวจวิเคราะห์น้ำอีกรอบ” นายชัชพงษ์ กล่าวด้านนายสายัณต์ หมีแก้ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9 กล่าวว่า ไม่มีข้อกฎหมายหรือระเบียบ ว่าบ่อบำบัดน้ำเสียต้องอยู่ห่างลำห้วยสาธารณะเท่าใด แต่มีความเสียงมากหากระดับน้ำในบ่อบำบัดสูงจะซึมออกไปยังพื้นที่ภายนอกหรือลำห้วยสาธารณะได้ ซึ่งจากการตรวจสอบน้ำทั้งในและนอกโรงงานพบว่า น้ำในโรงงานออกไปปนเปื้อนด้านนอก มีค่า บีโอดี.สูงเกินมาตรฐาน 3 เท่า และยังมีค่าความเป็นกรด ลำห้วยยางจะต้องได้รับการฟื้นฟู จึงจะสามารถนำนำไปใช้ได้

นายชาติชาย จันทรเสนา อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าก้าว ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า หลังจากโรงงานหยุดการผลิตเพื่อปรับปรุง ไม่มีรถขนยางก้อนถ้วยวิ่งผ่านหมู่บ้าน ไม่มีกลิ่นเหม็นจากน้ำยางที่หยดลงถนน แต่เวลากลางคืนยังคงได้กลิ่น ที่สำคัญ ชาวบ้านยังไม่พอใจการปรับปรุง เชื่อว่ายังจะมีผลกระทบอยู่ โดยเฉพาะบ่อบำบัดน้ำเสีย เพียงเอาปูนซีเมนต์มาราดทับขอบบ่อเดิม น้ำเสียยังซึมออกไปลำห้วยได้ เพราะบ่อบำบัดอยู่ติดลำห้วย จนขณะนี้ลำห้วยยางเป็นอัมพาตแล้ว ถ้าเลิกโรงงานได้ก็ขอให้เลิกนางปรินดา สุวรรณสว่าง เจ้าของโรงงาน กล่าวว่า หลังจากชาวบ้านร้องเรียน ก็ได้ทำตามคำแนะนำทันที โดยหยุดการผลิตเพื่อปรับปรุง ต้องยกเลิกสัญญาส่งยางเครป ไม่มีรายได้จากโรงงานมากว่า 2 เดือน เงินทุนที่มีอยู่ใช้ไปกับการปรับปรุง ขณะที่ต้องคุยกับสถาบันการเงิน เพื่อยืดการชำระหนี้ และขอรับการสนับสนุนทุน เข้ามาปรับปรุงโรงงานเพิ่มอีก ในข้อจำกัดเรามีพื้นที่เพียง 7 ไร่เศษ ขอความเห็นใจจากทางราชการ และชาวบ้าน ให้เวลาปรับปรุงอีก 1-2 เดือน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสรุปมีข้อว่า โรงงานอยู่ในคำสั่ง ม.37 ให้ปรับปรุงในหลายส่วน หากจะดำเนินการต่อขอให้โรงงาน 1.ไม่นำน้ำเสียออกจากโรงงานโดยเด็ดขาด 2.เมื่อมีการเดินเครื่องจักร จะต้องนำวัตถุดิบเข้า โรงงานต้องจัดการกลิ่นเหม็นให้ได้ , 3.โรงงานจะต้องปรับปรุงระบบน้ำเสีย ไม่ว่าจะเป็นระบบคอนกรีต หรือแผ่นยางรองก้นบ่อ ไม่ว่าผลการตรวจน้ำครั้งที่ 2 จะออกมาอย่างไร เมื่อครบ 1 เดือนจะต้องตรวจคุณภาพน้ำอีกครั้ง หากคุณภาพน้ำยังมีปัญหา อาจจะมีคำสั่ง ม.39 สั่งหยุดการผลิต หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาต , 4.ขอให้โรงงานทำความเข้าใจชาวบ้าน

นายวัฒนา กล่าวว่า ขอให้โรงงานเร่งรัดปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสีย ให้มีประสิทธิภาพตามระเบียบ และเสร็จสิ้นโดยเร็วไม่น่าจะเกินเมษายนนี้ ซึ่งจะมี สนง.อุตสาหกรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่จาก สนง.สิ่งแวดล้อมฯ และ อปท. มาช่วยให้คำแนะนำด้านเทคนิค หากโรงงานจะขนวัตถุดิบเข้ามา ขอให้อยู่ในปริมาณไม่มาก และใช้อุปกรณ์คลุมป้องกันกลิ่นไปทำชาวบ้านเดือดร้อน และให้โรงงานเข้มงวดกับการขนส่ง ไม่ให้น้ำเหม็นจากยางก้อนถ้วย หยดเรี่ยราดตามถนนถนน โดยชาวบ้านช่วยกันเป็นหูเป็นตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image