ไทยพาณิชย์คาดกนง.อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ จับตาเศรษฐกิจโลก-ภาวะการเงินตึงตัว

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2562 กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ว่า อีไอซีมองว่า กนง. น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมาก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญแต่โอกาสในการปรับขึ้นมีน้อยลงหลังมีการปรับลดประมาณการตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ลงมาอยู่ที่ 3.8% ซึ่งจังหวะในการปรับขึ้นน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปีเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยอีไอซีเชื่อว่า กนง. ยังมีความตั้งใจที่ทยอยลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ต้องชั่งน้ำหนักกับผลกระทบด้านลบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้อีไอซีประเมินว่า จังหวะเวลาที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารโดยรัฐบาลชุดใหม่ เพราะถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนและอาจกินเวลาถึงเดือนมิถุนายน กนง. จึงน่าจะรอประเมินนัยของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจก่อน

รายงานข่าวระบุว่า อีไอซี ประเมินว่าโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลดน้อยลงกว่าเดิมหลังมุมมองของ กนง. ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับแย่ลงสะท้อนจากประมาณการเศรษฐกิจที่ถูกปรับลง นอกจากนั้น อีกปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ กนง. ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ได้คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพราะถึงแม้ กนง. จะยังคงประมาณการสำหรับปีนี้ไว้ที่ 1% เท่าเดิม แต่อีไอซีมองว่า มีโอกาสสูงที่เงินเฟ้อทั่วไปจะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% ต่อปีได้จากราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มจะต่ำกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้หากการขึ้นดอกเบี้ยถูกชะลอออกไป กนง. ก็จะให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการใช้มาตรการการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (ไมโครพรูเด็นเชียล) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (แมคโครพรูเด็นเชียล) ในการดูแลความเปราะบางเฉพาะจุด

 นอกจากนี้ รายงานข่าวว่า หากพิจารณาจากรายงานผลการประชุมจะพบว่า กนง. มีความกังวลต่อความเสี่ยงด้านต่ำจากต่างประเทศ ต้องจับตาดูการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่อาจมีท่าทีผ่อนคลายขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและลดความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจไทย โดยอีไอซีมองว่า ความเสี่ยงสำคัญมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงพร้อมกับภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image