กสอ.ดันตั้งสถาบันกาแฟ ใช้ตรวจสอบคุณภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชม ความคืบหน้าในการพัฒนา”โครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟที่” เป็นการร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐเอกชนและชุมชนในพื้นที่ ว่า กรมฯเตรียมจะจัดตั้งสถาบันกาแฟ ในพื้นที่ศูนย์ภาคฯ เชียงใหม่ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ใช้ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดกาแฟที่ผลิตได้ในประเทศไทย และใช้รับรองมาตรฐานที่เทียบเท่าระดับสากล โดยคาดว่าภายใน 3-6 เดือนนี้ จะเห็นการจัดตั้งที่เป็นรูปธรรมใฟ้สามารถดำเนินการขับเคลื่อนในเบื้องต้นได้ และภายใน 1 ปีจะสำเร็จเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายในการส่งกาแฟไปตรวจสอบต่างประเทศ ที่ต้องใช้เงินหลักแสนถึงล้านบาท

“ตั้งเป้าว่าจะทำให้สถาบันกาแฟมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล โดยจะทำการร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟชั้นนำของประเทศไทย และหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องดังกล่าวในระดับสากล เพื่อให้เอสเอ็มอีในประเทศสามารถเข้าถึงได้ด้วย ซึ่งในอนาคตหวังว่าจะให้เป็นศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานกาแฟในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เป็นเหมือนศูนย์ทดสอบยางล้อ ที่ใช้ตรวจสอบมาตรฐานระดับอาเซียน เนื่องจากเห็นศักยภาพของพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับการพูดถึงในเรื่องคุณภาพของกาแฟ และยังเป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ลำดับต้นๆ ของประเทศด้วย”นายกอบชัย กล่าว

นายกอบชัยกล่าวว่า สถานการณ์กาแฟไทย ข้อมูลจากสมาพันธ์กาแฟอาเซียน ระบุว่า ประเทศไทยผลิตกาแฟได้ 20,000 ตันต่อปี บริโภคมากกว่า 120,000 ตันต่อปี นำเข้าไม่น้อยกว่า 90,000 ตันต่อปี และข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าตลาดกาแฟคั่วบดและสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปี 2560 มีมูลค่าการตลาดกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดของร้านกาแฟในไทยเพิ่มขึ้นปีละ 10-15% ซึ่งโดยเฉพาะภาคเหนือนั้นมีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าความต้องการบริโภคกาแฟในประเทศมีมากกว่าที่ผลิตได้ จึงเป็นโอกาสทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาทำธุรกิจในด้านนี้มากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรับรองมาตรฐานด้วยก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบการแปรรูปกาแฟ

นายกอบชัยกล่าวว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแบบครบวงจรเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทางกสอ. มุ่งเน้นอยู่แล้ว เพื่อยกระดับศักยภาพของกาแฟไทยสู่สากล โดยจะเป็นการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มในลักษณะของคลัสเตอร์ เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อาทิ การคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลพื้นที่ปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูปเมล็ดกาแฟ ตลอดจนการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานรวมถึงเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะบุคลากร ทั้งเรื่องเทคนิคการคัดคุณภาพสารกาแฟเทคนิคการครัว การชงและการบริหารจัดการหน้าร้านเพื่อให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

Advertisement

นายกอบชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟขึ้นโดยมี บริษั ชาวไทยภูเขา เป็นประธานคลัสเตอร์ซึ่งถือว่าเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการกาแฟประกอบไปด้วยสมาชิกประมาณ 100 คน อาทิ บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด , บริษัท ดอยสะเก็ดชาไทย จำกัด , ไร่กาแฟโป่งเดือด , ไร่ม่อนมาตุภูมิ , อาราบีก้าคอฟฟี่บีนส์ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาธุรกิจกาแฟให้มีศักยภาพและได้มาตรฐาน รวมทัั้งยังเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image