เฉลียงไอเดีย : เปิดตัวหุ่นยนต์การแพทย์ รับสังคมสูงวัย ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ ไม่ใช่เพื่อล่ารางวัล…เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ขอบคุณภาพจาก vimeo.com

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีข่าวเกี่ยวข้องกับการใช้หุ่นยนต์ หรือการติดตั้งระบบให้เครื่องจักรทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ซึ่งแนวคิดและการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์นี้ ทำให้ภาพที่เราเคยคิดฝัน หรือเคยเห็นแต่ในหนังไซไฟ อย่างไอรอนแมน คนเหล็ก โรโบคอป ฯลฯ เป็นจริงได้ไม่ยากเย็น

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คร่ำหวอดในวงการหุ่นยนต์หลายสิบปี เล่าว่า ด้วยลักษณะงานที่ซ้ำซากจำเจเป็นเหตุให้ปัจจุบันเกิดปัญหาการขาดแคลน “นักกายภาพบำบัด” คุณหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงได้แนะนำให้มีการพัฒนา “หุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” หรือ โรคสโตรก ขึ้นมาทดแทน

“หุ่นยนต์” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไกลโขอยู่สำหรับคนไทย แต่กับการวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” ศ.ดร.วิบูลย์ใช้ระยะเวลาเพียง 8 เดือน ก็สามารถเนรมิตหุ่นยนต์ตัวแรกให้เกิดขึ้นได้เมื่อปี 2557 เนื่องจากมีพื้นฐานในการพัฒนาหุ่นยนต์ในแวดวงอุตสาหกรรมอย่างยาวนาน

ศ.ดร.วิบูลย์เผยว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อราว 4-5 ปีก่อน ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 200,000 คนต่อปี โดยมีอัตราการสะสมอยู่ที่ 500,000 คน ซึ่ง 70% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ต้องการการฟื้นฟู ขณะที่ 20% ได้รับการฟื้นฟูเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถหายได้ ทั้งนี้ พบมากในผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว และ 10% เป็นผู้พิการ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

Advertisement

จากข้อมูลล่าสุดระบุว่า ต่อปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองพุ่งพรวดเป็น 250,000-300,000 คน ซ้ำยังเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่อายุยังน้อยลงเรื่อยๆ!!

ขณะที่ “ดีมานด์” หรือความต้องการหุ่นยนต์พุ่งสูง ฝั่ง “ซัพพลาย” หรือจำนวนหุ่นยนต์ กลับเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ไม่มากนัก จากปัญหาการขาดแคลน “วิศวกรผู้ผลิต” ด้วยจำนวนนักศึกษาที่ร่อยหรอลงทุกที ฉะนั้น ลำพังการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศอย่างเดียวยังไม่พอ คงไม่ต้องพูดถึงการขยับขยาย ขายเป็นสินค้าส่งออกนอกประเทศ เพราะดูจะห่างไกลเหลือเกิน

จากการพูดคุยในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเข้าขั้นรุนแรง ยิ่งปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ ที่ไทยมีค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 2,065 คน อีกทั้งในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้ ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ฉุกคิดขึ้นว่า หรือการที่หันมาพึ่งพาหุ่นยนต์ จะคือทางออก…

Advertisement

ศ.ดร.วิบูลย์พูดอย่างภาคภูมิใจว่า หุ่นยนต์ไทยไม่ได้กิ๊กก๊อก ประสิทธิภาพสูสีกับของต่างประเทศ ที่ต่างคงมีเพียงเรื่องสนนราคา ที่ห่างกันลิบลับราว 10 เท่า โดยของไทยอยู่ที่ 600,000-700,000 บาท ขณะที่ต่างประเทศมีสนนราคากว่า 5,000,0000 บาท

“จะพยายามอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อที่จะผลิตหุ่นยนต์ให้ได้ ให้ทันตามความต้องการ แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตจะมีอยู่น้อยนิด เมื่อเทียบกับความต้องการ แต่เชื่อว่าอนาคตจะสามารถผลิตได้มากขึ้นเป็นหลักร้อยตัวต่อปี ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเราทำเพื่อประโยชน์ของสังคม อย่างน้อยก็ได้เชื่อว่า เราทำออกไปเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ ให้ได้กลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง แม้บางอย่างต้องหาเงินเพื่อนำมาลงทุนเองก็ตาม”

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้น อาศัยงบประมาณจากรัฐบาล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เน้นระบบความปลอดภัยของตัวเครื่องกับผู้ป่วยเป็นสำคัญ ส่วนวิธีการบำบัดสามารถควบคุมได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันได้ ซึ่งจะใช้หุ่นยนต์ช่วยเคลื่อนไหว โดยยึดที่พละกำลังของผู้ป่วยเป็นหลักก่อน หากแรงไม่ถึงหุ่นยนต์ถึงจะช่วยออกแรงส่งให้ โดยการทำลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งจะช่วยเรื่องสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้รู้สึกภูมิใจว่าสามารถเคลื่อนไหวได้ และมีความต้องการในการทำกายภาพบำบัด โดยในอนาคตจะเปิดให้ผู้ป่วยสามารถเช่าอุปกรณ์เพื่อนำไปใช้งานที่บ้านได้ แต่ในระยะเริ่มต้นนี้เปิดให้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“เป้าหมายในชีวิตไม่ใช่การได้รับรางวัลมากมาย แต่คือการที่ได้เป็นอาจารย์ ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และหวังว่าหุ่นยนต์ทางการแพทย์จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมให้มากที่สุด”

ศ.ดร.วิบูลย์สะท้อนว่า แม้ในอนาคตเครื่องจักรจะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ แต่ไม่ว่าอย่างไร คนก็สำคัญที่สุด เพราะเครื่องจักรจะเกิดขึ้นได้ต้องมีคนออกแบบ คนสร้าง และคนพัฒนา โดยเฉพาะในตอนนี้ที่รัฐบาลกำลังพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 หน้าที่ของผมคือสร้างเด็กที่มีความรู้ความสามารถและเด็กเหล่านั้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง จากการพูดคุยกับ “ศ.ดร.วิบูลย์” ทำให้สัมผัสได้ถึงพลังบวก และความปรารถนาดีที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ โดยมีค่าตอบแทน คือความอิ่มเอมใจ ซึ่งหาซื้อที่ไหนไม่ได้

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image