ภาพเก่าเล่าตำนาน ในอินเดีย…ใครๆ ก็ใช้บริการแม่น้ำคงคา โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

อากาศร้อน แห้งแล้งตามฤดูกาล เลยชวนท่านผู้อ่านให้นึกถึงเรื่องเย็นๆ ครับ…

ประเทศอินเดีย อยู่ในชมพูทวีป เป็นดินแดนของผู้นำทางความคิด จิต วิญญาณ มีความมหัศจรรย์พันลึก เป็นอาณาจักรที่โดดเด่นพิสดารไม่เป็นสองรองชนชาติใดใน 3 โลก ความเชื่อ มีพระ มีฤๅษีชีพราหมณ์ ภาษาพูด ศาสนาสารพัดนิกาย น่าศึกษา….

ชมพูทวีปในอดีตหลายพันปีที่แล้ว ครอบคลุมอาณาบริเวณ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน สิกขิม (รัฐในอารักขาของอินเดีย) บางส่วนของอัฟกานิสถาน

Advertisement

นามว่าชมพูทวีป แปลว่า ทวีปแห่งไม้หว้า เพราะมีต้นหว้ามหาศาลในดินแดนแห่งนี้ ส่วนคำว่าอินเดีย เป็นคำในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเรียกแม่น้ำสินธุ ว่าฮินดู เนื่องจากชาวเปอร์เซียรู้จักอินเดีย โดยเข้ามาทางลุ่มน้ำนี้เมื่อ 3,000 กว่าปีมาแล้ว ต่อมาเมื่อชาวกรีกเริ่มเข้ามา ได้ออกเสียงคำว่าฮินดูเพี้ยนไปเป็นอินโดส และเพี้ยนออกไปเป็นอินดุส และอินเดีย ตามลำดับ

แม่น้ำคงคา (Ganges: แกนจีส หรือ Ganga) เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของอินเดีย ชาวอินเดียเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูคู่กับแม่น้ำยมุนาที่ไหลขนานกัน

แม่น้ำคงคา มีต้นกำเนิดทางภาคเหนือของอินเดีย เมื่อหิมะบริเวณเทือกเขาหิมาลัยที่แสนบริสุทธิ์ละลายตัวกลายเป็นน้ำ ธารน้ำใสสะอาดไหลผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียไปทางตะวันออก แม่น้ำคงคามีความยาวประมาณ 2,510 กิโลเมตร

อินเดีย มีประชากรราว 1.3 พันล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ฮินดู ร้อยละ 81.3 มุสลิม ร้อยละ 12 คริสต์ ร้อยละ 2.3 ซิกข์
ร้อยละ 1.9 พุทธและเชน ร้อยละ 2.5

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ขอพาท่านผู้อ่านไปพูดคุย มหากาพย์ชีวิตชาวอินเดีย สองฟากฝั่งแม่น้ำคงคาที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนในโลก

“คงคา” แม่น้ำนี้ เรียกชื่อตามนามของพระแม่คงคา พระชายาของพระศิวะ ทุกวัน เช้า สาย บ่าย เย็น ชาวอินเดียนับล้านคนจะมาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเพื่ออาบน้ำ และดื่มกินน้่ำจากในแม่น้ำคงคา

ในเวลาเดียวกัน ณ บริเวณตลิ่งของแม่น้ำดึกดำบรรพ์นี้ ยังมีการเผาศพกลางแจ้งนับไม่ถ้วน ผู้มาเยือนจะประจักษ์ชัดด้วยตา การเผากระทำอย่างเปิดเผย เมื่อศพคนตายไหม้เกรียมไปได้ระยะหนึ่ง สัปเหร่อจะพลิกตะแกรงเผาศพเพื่อเทร่างทิ้งลงไปในแม่น้ำ รวมทั้งขี้เถ้าจากเตาเผาทั้งหมดจะไหลลงไปในแม่น้ำคงคา

ข้อมูลเหล่านี้ เปิดเผยต่อสังคมโลก ที่ชาวอินเดีย (นับถือศาสนาฮินดู) ปฏิบัติสืบทอดกันมานานนับพันปีมาแล้ว จนถึงทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวที่ไปเมืองพาราณสี จะไม่ยอมพลาดการไปชม “แนวการใช้ชีวิต” ที่ไม่ซ้ำกับใครในโลก

เคยมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำคงคาที่แสนจะชุลมุนด้วยสรรพสิ่งสารพัด เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะเท่าที่ได้เห็นกับตา ก็ต้องเชื่อว่าแม่น้ำนี้คงเป็นแม่น้ำที่มีความสกปรกและมีมลพิษมากที่สุดในโลก

ในข่าวร้าย..มีข่าวดีครับ…. น้ำในแม่น้ำคงคา มองดูแล้วสีขุ่น แถมยังมีเศษขยะ มีซากศพและสิ่งปฏิกูล แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าน้ำในแม่น้ำคงคามีลักษณะพิเศษกว่าแม่น้ำอื่นใด คือ มีปริมาณของออกซิเจนละลายในน้ำสูง และยังมีจุลินทรีย์ที่สามารถกินไวรัสรวมถึงเชื้อแบคทีเรียได้ดี

จุลินทรีย์ตัวนี้จะทำให้น้ำในแม่น้ำคงคามีความสามารถที่จะปรับตัวไปสู่สภาพปกติมากกว่าแม่น้ำทั่วไปถึง 25 เท่า

แปลว่าจะทิ้งขว้าง จะเท สาดอะไรลงมาในแม่น้ำนี้ ก็ฟื้นคืนสภาพได้หมด และผู้คนนับล้านก็ยังต้องมาอาบชำระกายทุกวัน

ลองมาคุยกันเรื่อง เมืองพาราราณสี หรือวาราณสี (Varanasi)

มหานครแห่งนี้ เป็นดินแดนอมตะคู่บ้านคู่เมืองของอินเดีย มีเสน่ห์เฉพาะตน พาราณสีเป็นชื่อของเมืองหลวงแคว้นกาสี ประเทศอินเดีย มีแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่าน มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี เป็นเมืองที่ถือว่าเป็นที่สถิตแห่งศิวเทพ เป็นที่แสวงบุญทั้งของชาวฮินดูและชาวพุทธทั่วโลก

พาราณสี เป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือเป็นที่เกิดของพระโพธิสัตว์ มีอาณาเขตครอบคลุมถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าสารนาถ อันเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่ง

ชั่วกัปชั่วกัลป์ ไม่มีใครที่ไหนมาเปลี่ยนแปลงเมืองนี้ได้ อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น ครั้งหนึ่งอังกฤษเคยพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อพาราณสี เป็นเมืองเบนารัส (Banaras) แต่ไม่นานชาวเมืองก็กลับมาใช้ชื่อเดิมคือ พาราณสี

ที่นี่คือเมืองที่คงความเป็นอินเดียไว้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อ ประเพณี วิถีชีวิต ที่สำคัญที่สุด คือ ศรัทธาในศาสนาและปรัชญาในการดำรงชีวิต ในทุกพิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย

ตามท้องถนน วัว เดินเพ่นพ่าน ขี้วัว ตามพื้นถนน ขอทาน ล้อเลื่อน ยานยนต์ เสียงตะโกน เสียงบีบแตรรถ ผสมผสานกันกลมกลืน และลงตัวเกินคำบรรยาย

พิธีกรรมที่ชาวโลกสนใจใคร่หาโอกาสไปดูในระหว่างล่องเรือในแม่น้ำคงคาคือ พิธีบูชาสุริยเทพหรือบูชาพระอาทิตย์ ที่ชาวฮินดูเชื่อว่าแสงอาทิตย์ยามเช้า จะสามารถทำลายความชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจได้

การไหว้พระอาทิตย์จะทำให้บุคคลนั้นเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จในชีวิต

ทุกวันชาวฮินดูนับล้านคน จะมาอาบน้ำในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์และขอพรต่อสุริยเทพในทันทีที่แสงแรกของดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้น

การใช้ชีวิตของชาวอินเดียนับร้อยล้านคน จะพึ่งพา อาศัยแม่น้ำคงคา ตั้งแต่เช้ายันเย็น ตั้งแต่เกิดจนเผาร่างเป็นขี้เถ้า

การใช้แม่น้ำคงคา มิใช่เฉพาะพวกที่นับถือฮินดู

ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ก็นิยมเชื่อถือเรื่องการอาบน้ำล้างบาป โดยเชื่อว่าแม่น้ำคงคาโดยเฉพาะที่ท่าเมืองพาราณสีนั้นศักดิ์สิทธิ์ สามารถชำระบาปได้ พวกพราหมณ์อีกนับล้านคน จึงพากันลงอาบน้ำล้างบาปอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น ถือว่าบาปที่ทำตอนกลางวันล้างด้วยการลงอาบน้ำในตอนเย็น

ส่วนบาปที่ทำตอนกลางคืน ก็ล้างได้ด้วยการลงอาบน้ำในตอนเช้า

ยิ่งวันเพ็ญเดือนสิบสองด้วยแล้ว ชาวฮินดูนับล้านคนจากทุกสารทิศ จะพากันมุ่งหน้าสู่นครพาราณสี เพื่อจะล้างบาปในแม่น้ำคงคา

ตั้งแต่เกิดจนตาย ..ใครๆ ก็ต้องใช้บริการแม่น้ำคงคา

ปัจจุบันนี้ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูนับพันล้านคน ก็ยังเชื่อถือกันอยู่ว่า ใครก็ตามที่ตายและได้เผาที่ท่าน้ำเมืองพาราณสีแล้วทิ้งกระดูกลงแม่น้ำคงคาก็เป็นอันเชื่อได้ว่าต้องไปสู่สรวงสวรรค์

มีคำกล่าวว่า ที่เมืองพาราณสีนี้ ไฟเผาศพของชาวฮินดูไม่เคยดับมานานกว่า 4 พันปีแล้ว

ศพผู้ชายจะห่อด้วยผ้าขาว ส่วนผู้หญิงจะห่อผ้าหลากสี โดยไม่ต้องใส่โลงศพให้ยุ่งยากมากเรื่อง ใช้แคร่ไม้ไผ่หามศพมา ญาติๆ จะซื้อฟืนกันตรงนั้นมากองไว้

ก่อนเผาก็เอาศพที่ห่อผ้าจุ่มลงไปในแม่น้ำคงคาแล้วยกขึ้น ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง เพื่อชำระล้างบาป แต่เป็นการล้างบาปครั้งสุดท้าย เพื่อให้ดวงวิญญาณได้ไปสู่ดินแดนที่สุขสงบ จากนั้นก็นำศพขึ้นมาวางบนกองฟืน

บรรดาเศรษฐีภารตะเลยนิยมมาปลูกบ้านทิ้งไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมื่อป่วยหนักคิดว่าจะไม่รอดแล้วพวกญาติก็จะนำมา เมื่อตายก็จะสะดวกในการเผาที่ริมแม่น้ำและกวาดกระดูกลงแม่น้ำ

มีเรื่องราวในชาดกระบุว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์เคยทรงสนทนากับพวกพราหมณ์ผู้ไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคาเพื่อล้างบาปเป็นใจความว่า ถ้าต้องการล้างบาป ไม่จำเป็นต้องไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ขอให้ชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ คือ เว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ และประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ นั่นแหละคือการอาบน้ำล้างบาปในศาสนาพุทธ ถ้าประพฤติอยู่ในสุจริตแล้ว แม้น้ำดื่ม น้ำอาบ ธรรมดาก็จะกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ยังมิใช่ “ความอลังการ” ของพิธีกรรมในอินเดียนะครับ ยังคงมีพิธีอันเข้มข้นของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู ที่อุ่นหนาฝาคั่งมากกว่านี้อีกครับ

“มหากุมภะ เมลา” (Maha Kumbh Mela) เป็นพิธีอาบน้ำล้างบาปตามความเชื่อของชาวฮินดูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พิธีนี้มุ่งหมายให้ชาวฮินดูมารวมอยู่ ณ จุดๆ เดียวกัน คือสถานที่ที่เรียกว่า “สังฆัม” ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี ซึ่งจุดดังกล่าว อยู่ในเมืองอัลลาฮาบาด รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย

วันที่ 14 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นวันเริ่มต้นพิธี มีคนเดินทางเข้าร่วมพิธีกว่า 1.5 ล้านคน ทางการอินเดียประเมินว่าตลอดเทศกาลนี้จะมีชาวฮินดูไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน มาอาบน้ำ เชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยชำระล้างบาป และเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ชีวิตนี้ โดยพิธีดังกล่าวจะกินระยะเวลานาน 55 วันเต็ม

แม้แต่นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ก็มาเข้าร่วมพิธีดังกล่าว

นักพรต นักบวช นักปราชญ์ จะถือดาบเอาไว้ในมือแล้วลงไปในแม่น้ำ ที่เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา ที่ระบุว่าน้ำนี้มาจากการแย่งชิงน้ำอมฤตระหว่างเหล่าเทวดากับอสูรบนสรวงสวรรค์ แต่น้ำได้ไหลลงมายังเมือง 4 แห่งบนโลก ได้แก่ เมืองอัลลาฮาบาด เมืองนาสิก เมืองอุชเชนี และหริทวาร ทำให้น้ำในบริเวณนี้มีอิทธิฤทธิ์ สามารถชำระล้างสิ่งสกปรก หรือ “บาป” ได้หมดสิ้น

ความเชื่อ หลักคิด ปรัชญาการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนใคร…Incredible India…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image