ผลสำเร็จกองทุนหลักประกันสุขภาพปี’61 ร่วมต่อจิ๊กซอว์สร้างระบบสุขภาพเข้มแข็ง โดย : นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

ความสำเร็จของ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

ปีงบประมาณ 2561 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สปสช.” องค์กรของรัฐที่ดำเนินงานภายใต้การบริหารของ “คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บอร์ด สปสช.) โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่มุ่งตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2560-2564 ที่คาดหวังให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยความมั่นใจ”

หัวใจสำคัญของบริหารกองทุนฯ อยู่ที่การจัดการงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาแต่ละปีอย่างมี “ประสิทธิภาพ” “ประสิทธิผล” และ “คุ้มค่า” เพื่อให้ระบบเดินไปได้ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ผ่านชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ และกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายที่ได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2561 จากที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณรวมเป็นจำนวนกว่า 175,559 ล้านบาท (งบประจำปี 171,373 ล้านบาท หลังหักเงินเดือนหน่วยบริการ 44,840 ล้านบาท และงบกลางที่ได้รับเพิ่มเติม 4,186 ล้านบาท) สำหรับดูแลคนไทยที่มีสิทธิบัตรทอง 47.80 ล้านคน ครอบคลุมประชากรเกือบทั้งประเทศ หรือร้อยละ 99.92 สปสช.ได้นำมาจัดการเพื่อการเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นให้กับประชาชน

จาก 6 รายการของการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่เดิม ได้แก่ บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว (หรืองบเหมาจ่ายรายหัว 3,283 บาท/ประชากร) บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแล้ว

Advertisement

ปีงบประมาณ 2561 ยังเป็นปีแรกที่ได้เพิ่มการจัดสรรงบเป็น “ค่าบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว” เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน ที่เป็นหนึ่งแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 ในส่วนของงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 184.5 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.85 ครั้ง/คน/ปี โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราเข้ารับบริการเกิน 7 ครั้ง/คน/ปี การเข้ารับบริการผู้ป่วยในอยู่ที่ 6.2 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 0.12 ครั้ง/คน/ปี ส่วนบริการกรณีเฉพาะที่เป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง การเข้าถึงบริการเป็นไปตามเป้าหมายเช่นกัน อาทิ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด 4,726 คน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้รับยาละลายลิ่มเลือด 4,844 ครั้ง ผู้ป่วยตาต้อกระจกได้รับการผ่าตัด 124,705 ครั้ง ผู้ป่วยได้รับการเปลี่ยนกระจกตา 479 คน ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ 84 คน ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายตับ 268 คน ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต 56 คนผู้ป่วยรับการผ่าตัดโรคข้อเข่าเสื่อม 9,577 คน ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงได้รับเลือดและยาขับเหล็กต่อเนื่อง 12,401 คน และผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคอง 16,814 คน

นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับการใส่ฟันเทียม 43,069 คน ผู้พิการได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ 28,360 คน และผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ 1.09 ล้านคน การเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย 8.16 ล้านครั้ง ผู้ป่วยได้รับยาบัญชี จ(2) 33,393 คน และผู้ป่วยที่ได้รับยากำพร้า/ยาต้านพิษอีก 5,312 คน

Advertisement

สำหรับการดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มที่แยกบริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว การจัดการเป็นเป้าหมายเช่นกัน ทั้งผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม โดยบริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 261,930 คน การส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 74,857 คน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 57,288 คน, การควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง) 3.93 ล้านคน, ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 10,389 คน, ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 211,290 คน ส่วนของหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2561 ได้เพิ่มเติมค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ 202 แห่ง จากที่กำหนดเป้าหมาย 175 แห่ง

อย่างไรก็ตาม มีเพียงบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีการบริการ 332,968 ครั้ง หรือร้อยละ 51.1 เนื่องจากเป็นปีแรกของการเริ่มต้น ยังต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายในปีต่อไป

“ข้อมูลข้างต้นนี้ได้ชี้ให้เห็นผลดำเนินงานกองทุนฯ ที่เป็นไปตามตัวชี้วัด และหากนำมาเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการปรับปรุงและพัฒนาของระบบ จากปี 2546 ที่อัตราการรับบริการผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 111.95 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 2.45 ครั้ง/คน/ปี และผู้ป่วยในอยู่ที่ 4.3 ล้านครั้ง หรือ 0.094 ล้านครั้ง/คน/ปี เช่นเดียวกับการเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพอื่นๆ”

ความสำเร็จของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งในปี 2561 มีหน่วยบริการที่ร่วมดูแลประชากรผู้มีสิทธิ 12,151 แห่ง ทั้งที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อ รวมถึงหน่วยบริการที่ไม่ได้จัดเครือข่าย โดยเป็นหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11,070 แห่ง กระทรวงอื่นๆ 240 แห่ง เอกชน 527 แห่ง และท้องถิ่น 314 แห่ง

ทั้งนี้ จากการดำเนินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ละปีที่การบริหารจัดการบรรลุผลตามเป้าหมาย เปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ที่ไม่เพียงแต่สร้างความเข้มแข็งในกับระบบสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังลดความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชน ไม่ต้องเป็นหนี้สิน ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล โดยจากรายงานภาพรวมการคลังสุขภาพ ที่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2531-2559 พบว่าการลดลงของครัวเรือนที่ต้องยากจนลงจากค่ารักษาหลังมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จาก 2.2 ต่อแสนครัวเรือนในปี 2545 ลดลงเหลือเพียง 0.24 ต่อแสนครัวเรือนในปี 2560, ครัวเรือนที่เกิดวิกฤตการเงินจากค่ารักษาพยาบาลจาก 6.6 ต่อแสนครัวเรือนในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ 2.26 ต่อแสนครัวเรือนในปี 2560

ขณะที่สัดส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจากครัวเรือนจากร้อยละ 27 ในปี 2545 ลดลงเหลือร้อยละ 11.32 ในปี 2560

จากประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับประชาชน ทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจครัวเรือน รวมถึงเศรษฐกิจประเทศที่ทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเพื่อใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับตัวเองและครอบครัว จึงนับเป็นความคุ้มค่าของประเทศไทยที่ได้ลงทุนนี้ โดยงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ (ขณะที่รายจ่ายสุขภาพโดยรวมของทั้งประเทศ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 4.02 เมื่อเทียบกับ GDP) ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเกณฑ์อยู่มาก

ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในวันนี้…ไทยจึงก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำด้านระบบสุขภาพของโลก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
รองเลขาธิการ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image