ฝุ่นตลบก่อนการเลือกตั้ง โดย : กลิ่นบงกช

คําว่าฝุ่นตลบก่อนเลือกตั้ง หมายถึงวาทะ วิวาทะที่แข่งกันพูดเพื่อหาคะแนนเสียง จากเจ้าของประเทศคือประชาชน วาทะวิวาทะเหล่านั้น เป็นที่สนใจของประชาชนมากมาย เราพบได้จากโลกออนไลน์ดาษดื่น และมิใช่จะมีเฉพาะวาทะวิวาทะเท่านั้น แต่ยังมีเหตุการณ์อันชวนหวาดเสียวอีกบางส่วนที่ชาวโลกออนไลน์ ที่ถือหางแต่ละฝ่ายส่งออกมาเชียร์กลุ่มของตน ในวาทะวิวาทะและเหตุการณ์เหล่านั้น จะได้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักธรรมในการปกครองบ้านเมืองที่พระพุทธองค์ประทานไว้ต่อไป

เรื่องแรกที่อยากนำมาวิเคราะห์ คือ การเสวนาเรื่องการปราบคอร์รัปชั่นที่พูดกันทางทีวี การคอร์รัปชั่น มันเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเราก็มี ทำไมไม่ใช้ คำคำนี้ คือการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ฉ้อราษฎร์ คือ เมื่อราษฎรไปติดต่อคนของหลวงคือข้าราชการ ซึ่งเป็นมือไม้ของหลวงคือรัฐบาล แล้วคิดค่าบริการ อย่างกรมกรมหนึ่งผู้เขียนพบมาแล้ว เมื่อราษฎรไปติดต่อ เมื่อส่งคำร้องต้องเอาใบละร้อยใส่ซองแนบไปด้วย มีใครจะเถียงเรื่องนี้ไหม ! ถ้าไม่มีเงินงานไม่เดิน

บังหลวง คือ รัฐบาลให้งบมาก้อนหนึ่ง จากนั้นกระทรวงที่เป็นเจ้าของงบ อาทิ แบ่งให้รัฐมนตรี 5% ปลัดกระทรวง 4% อธิบดี 3% เลขานุการกรม 2% ผู้ว่าฯ 5% สำหรับเศษเงิน นายอำเภอ 5% สำหรับเศษเงินเช่นกัน หัวหน้าหน่วยปฏิบัติงานได้ 3% ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างได้กลืนน้ำลายไปพลางๆ ก่อน

Advertisement

พฤติกรรมดังกล่าวมานี่แหละ ที่ทุกรัฐบาลในโลกหาทางปราบ แต่ก็ปราบไม่หมด การปราบฉ้อราษฎร์บังหลวงดังกล่าวมานี้นี่เองที่เขาเสวนากันในวันนั้น บางท่านก็บอกว่า ให้เงินเดือนให้มากขนาดไหนก็แก้ไม่ได้ บางคนเสนอว่า ต้องไม่ให้ประชาชนผู้จะติดต่อกับทางการไม่ต้องมาพบกับเจ้าหน้าที่ เอกสารก็ส่งทางออนไลน์หรืออีเมล์ คิดว่าแบบนี้ป้องกันการจ่ายใต้โต๊ะได้หรือ ? ไม่ได้แน่ เขาจะทำอย่างไร ไม่ยากดอก ผู้ยื่นคำขอส่งเอกสารให้แล้ว โทรศัพท์บอกว่าช่วยหน่อยครับ ! ผมจ่ายให้พันบาท คุณช่วยส่งเลขบัญชีธนาคารให้ผมด้วย เท่านี้การทุจริตก็สำเร็จแล้ว

นอกจากนั้นแต่ละท่านก็บรรยายวิธีการปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวง ตามความคิดเห็นของตนๆ ผู้เขียนฟังแล้วก็ทำใจไม่ถูก เพราะแทบทุกคนเป็นชาวพุทธทั้งนั้น ทุกคนเคยใส่บาตร บำรุงพระพุทธศาสนา ให้คำสอนอันวิเศษดำรงอยู่

แต่พอมีปัญหาในบ้านเมือง มิได้คิดถึงคำสอนที่พวกเราคอยช่วยกันประคับประคองอยู่เลย

Advertisement

ขอเสนอว่า หลักธรรมการแก้การฉ้อราษฎร์บังหลวง คือ ทศพิธราชธรรม ข้อที่ 2 และข้อ 7 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 2 คือ การมีศีล 5 โดยเฉพาะศีลข้อที่ 2 ที่ว่า อทินนาทานาเวรมณี ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าขอเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของหวงแหน

ส่วนทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 คือ ตบะ แปลว่าความมีเดช หมายความว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองทุกระดับ ต้องสร้างเดชให้เกิดขึ้นในตัว

ถามว่าทำไมต้องสร้างเดชให้เกิดขึ้นในตัว ตอบว่า เพราะผู้ปกครองทุกระดับ ต้องสร้างความเกรงกลัวให้ผู้อยู่ใต้ปกครอง ถ้าคนทำผิดกฎหมาย คือคิดค่าบริการจากชาวบ้านที่มาติดต่อ และที่บังอาจเบียดบังงบประมาณแผ่นดิน เอาเข้ากระเป๋าตัวเอง ต้องสอบสวน เมื่อพบว่าทำจริง ต้องลงโทษทุกรายไม่มีเว้น นั่นแหละผู้อยู่ใต้ปกครองจะเกรงกลัว เมื่อเขาเกรงกลัว เขาก็จะไม่กล้าทำผิด แต่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร ข้าราชการแทบทุกระดับ ไม่มีการเกรงกลัวกฎหมายเลย เพราะข้าราชการที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ถูกลงโทษให้ประชาชนเห็น ทุกคนจึงไม่กลัวการลงโทษ เมื่อทำความผิด มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นต้น ก็ใช้วิธีวิ่งเข้าหาผู้อุปถัมภ์

หรือถ้าไม่มีผู้อุปถัมภ์ก็ใช้เงิน เพราะอำนาจรัฐทุกวันนี้ ตกอยู่ในกำมือของกลุ่มพ่อค้า ผู้ใช้เงินบนฐานอำนาจ

ขอยกตัวอย่างทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 คือ ตบะ ความมีเดช ของพระเจ้าแผ่นดินสมัยราชาธิปไตย ที่พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเด็ดขาด คนไหนทำผิดทรงลงโทษไม่ไว้หน้า สมัยพระนเรศวรทรงปกครองบ้านเมือง ทรงเด็ดขาดอย่างนั้น จนเหล่าอำมาตย์ทุกคนเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด แต่ก็มีผู้ใกล้ชิดพระองค์ ท่านหนึ่งได้ทำผิดกฎของบ้านเมือง คือพระยาศรีไสยณรงค์ ท่านผู้นี้ประทานความชอบให้ไปเป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ตามธรรมดาเจ้าเมืองหรือเจ้าประเทศราช เมื่อถึงปีต้องนำดอกไม้เงินดอกไม้ทองมาถวาย เพื่อยืนยันว่าตัวยังจงรักภักดีต่อพระองค์อยู่ แต่เมื่อครบปีพระยาศรีไสยณรงค์ เจ้าเมืองตะนาวศรีทำเฉย พระนเรศวรทรงส่งข่าวไปให้เข้ามาถวายบังคม แต่ก็ไม่มา คงจะถือว่าตนได้ช่วยงานสงครามมามาก จึงรับสั่งให้พระอนุชา คือพระเอกาทศรถ ยกทัพไปปราบ ในฐานะที่กระด้างกระเดื่อง

กองทัพพระเอกาทศรถเข้าล้อมเมืองตะนาวศรี เจ้าเมืองพระยาสีไสยณรงค์ให้ปิดประตูเมือง ทำการป้องกันเข้าตีเมืองของกองทัพอยุธยา ขณะที่พระยาศรีไสยณรงค์มาตรวจความเข้มแข็งบนกำแพงเมืองตะนาวศรี พอมองเห็นกองทัพของพระเอกาทศรถเข้าเท่านั้น หอกที่พระยาศรีไสยณรงค์ถืออยู่ ก็ร่วงหลุดจากมือ นั่นคือเกรงกลัวความเด็ดขาดของพระนเรศวร คงนึกในใจว่า คราวนี้กูไม่รอดแน่ ข้างฝ่ายทหารของพระยาศรีไสยณรงค์ เห็นเจ้านายของตนอาวุธร่วงหล่นจากมือ ต่อหน้าต่อตา เพียงมองเห็นกองทัพของพระนเรศวรเท่านั้น แต่ละคนต่างก็คิดว่าเจ้านายแบบนี้ พวกเราหวังพึ่งไม่ได้แน่ จึงต่างแอบหนีตีจาก เปิดประตูเมืองเข้าไปสวามิภักดิ์ต่อพระเอกาทศรถจนหมด

จากนั้นกองทัพพระเอกาทศรถก็เข้าเมืองจับพระยาศรีไสยณรงค์มาลงโทษได้ นี่คือความมีตบะเดชะของผู้ปกครองบ้านเมือง

การจะมีเดชานุภาพอย่างนี้ได้ ผู้ปกครองบ้านมืองต้องมีความยุติธรรมในการปกครองบ้านเมือง คนในปกครองคนไหนทำผิด ต้องลงโทษทุกคน ไม่มีการไว้หน้า คุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของนักปกครองทุกระดับ แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้จักคุณธรรมข้อนี้เลย

ท่านคึกฤทธิ์ ที่เรายอมรับกันว่าท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านได้พิมพ์หลักธรรมข้อนี้ไว้ เป็นภาษาบาลี ที่แผ่นหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐของท่านว่า นิคฺคณฺเห
นิคฺคหารหัง อ่านว่า นิคคัณนะเห นิคคะหาระหัง แปลว่า ลงโทษผู้ทำผิดกฎหมาย ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหัง อ่านว่า ปัคคัณนะเห ปัคคะหาระหัง แปลว่า ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง เมื่อผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ว่าระดับไหน เมื่อลูกน้องทำผิด ต้องสอบสวนเมื่อเห็นว่าทำผิดต้องลงโทษ ทุกคนทุกหน้า เมื่อลูกน้องเห็นความเด็ดขาดอย่างนี้ โดยไม่ยอมมองหน้าใครเลย ทุกคนก็จะเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิดกฎหมาย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกน้องคนไหนทำผิด เผอิญคนนั้น เป็นคนสนิทแล้วไม่ลงโทษ แต่ถ้าคนทำผิดนั้น ไม่ใช่คนสนิทจึงลงโทษ เมื่อลูกน้องทุกคนรู้ว่าเจ้านายเป็นแบบนี้ ผู้ที่เป็นคนสนิทของหัวหน้า ก็จะทำผิดต่อไปอีก เพราะตัวไม่เกิดความเกรงกลัว

ส่วนคนที่ไม่ใช่คนสนิท ก็จะไม่ทำผิดเพราะเกิดความกลัว ว่าตัวไม่ใช่พวกของหัวหน้า เมื่อทำผิดต้องโดนแน่ ผลจากการวางตัวของหัวหน้าแบบนี้ ผลที่จะได้รับคือ หน่วยงานนั้น ลูกน้องจะไม่สามัคคีกันเลย หน่วยงานไหน ไม่ว่าระดับใด ถ้าไม่สามัคคีกัน งานในหน่วยงานนั้นก็ไม่เดินหน้า ขอให้ดูหน่วยงานระดับประเทศไทยขณะนี้ ไม่มีความสามัคคีกัน งานของประเทศก็ย่อหย่อน ประเทศชาติควรจะก้าวหน้าแต่กลับถอยหลังกรูดๆๆ จนจะลงเหวอยู่แล้ว

จึงสรุปความได้ว่า การจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้ปกครองทุกระดับต้องมีทศพิธราชธรรม ข้อที่ 2 และข้อที่ 7 กล่าวคือต้องมีศีล 5 และสร้างตบะเดชะให้เกิดในตัว เพื่อให้ผู้อยู่ใต้ปกครองเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิดกฎหมาย หรือไม่กล้าทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงอีกต่อไป

หรืออย่างน้อยขอให้ถือว่า การมีทศพิธราชธรรม ข้อที่ 2 และ 7 เป็นคุณสมบัติของข้าราชการ เหมือนความรู้ระดับต่างๆ เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิในการรับราชการฉะนั้น

กลิ่นบงกช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image