แบงก์ชาติเกาะติดผลมาตรการแอลทีวีเริ่มใช้ 1 เม.ย.นี้ จ่อเข้มงวดอีก!

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่อัจชตราการขยายตัว(จีดีพี)ที่ 3.8% แม้ว่าจะชะลอตัวลงกว่าปีที่ผ่านมาแต่ยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องตามศักยภาพ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการเมืองโลก สงครามการค้า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คือ การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน เพราะแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วแต่ยังต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในช่วงเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่ารัฐบาลปัจจุบันยังทำหน้าที่ตามปกติไม่ใช้รัฐบาลรักษาการ โครงการลงทุนต่าง ๆ ยังเดินหน้าได้และไม่เป็นสุญญากาศ อย่างไรก็ตาม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจดี มีภูมิคุ้มกันรองรับความเสี่ยงทั้งจากในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเข้ามาในอนาคตได้ ส่วนการปรับเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) ที่กำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2562 ถือเป็นการสร้างมาตรฐานและวินัยในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อดูแลความเสี่ยง โดยธปท. ไม่ได้ต้องการที่จะขัดขวางการมีบ้านของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แต่มาตรการที่ออกมาป้องกันไม่ให้ประชาชนมีหนี้มากเกินไปจนอาจจะกระทบต่อการชำระหนี้คืน และเพื่อไม่ให้เอื้อต่อการเก็งกำไรมากกว่าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจริง รวมทั้งดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่นไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ โดยหลังจากที่มาตรการแอลทีวีออกมาบังคับใช้แล้ว ธปท. จะติดตามอย่างใกล้ชิดหลังบังคับใช้ และมีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนการดำเนินมาตรการตามการประเมินสถานการณ์

“หลังจากมาตรการแอลทีวีออกมาบังคับใช้แล้ว ธปท. จะมีการประเมินสถานการร์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าผ่านไป 1 ไตรมาส หรือสิ้นไตรมาสที่ 2/2562 น่าจะเริ่มเห็นข้อมูลมากขึ้น ซึ่งหากยังเห็นการเก็งกำไรมากขึ้นอาจจะมีการปรับเพิ่มความเข้มงวดมาตรการมากขึ้น แต่หากกระทบกับการเข้าถึงสินเชื่ออาจจะปรับมาตรการให้เหมาะสมมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ออกมา โดยคาดหวังว่าจะเห็นการปรับตัวธนาคารพาณิชย์มีมาตรฐานให้สินเชื่อที่ดีขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่การเปิดโครงการใหม่น่าจะชะลอลงไปสอดคล้องความต้องการ และคาดว่าในระยะต่อไปหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่อยู่อาศัยจะมีแนวโน้มลดลง” นายเมธี กล่าว

นายเมธี กล่าวว่า สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าราว 6-8% ของจีดีพีประเทศ แต่รวมธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น อาจมากกว่านี้ ทั้งนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็น 20% ของสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วน 33% ของหนี้ครัวเรือน แม้ว่าจะสูงแต่ไม่กังวล เพราะถือเป็นการสะสมสินทรัพย์ แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อทำให้มาตรฐานปล่อยสินเชื่อหย่อนลงและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการพัฒนาโครงการออกมาจำนวนมากซึ่งพบว่าบางทำเลและบางโครงการ มีอัตราการขายช้าและมีการโอเวอร์ซัพพลาย ขณะที่เอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสวนทางสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่น โดยล่าสุด ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 3.25% จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ปี 2562 คาดว่าจะมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ราว 5 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปีก่อนๆ และคาดว่าสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยจะมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท สำหรับมาตรการแอลทีวีที่ธปท. ออกมา มองว่าระยะสั้นอาจจะกระทบให้ผู้กํ้บ้าน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัว แต่ระยะยาวจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์แข่งขันปล่อยสินเชื่อแต่คุณภาพสินเชื่อแย่ลง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งพัฒนาโครงการเพราะคิดว่าจะขายได้แต่เกิดโอเวอร์ซัพพลาย มีกลุ่มซื้อลงทุนเพื่อเก็งกำไรขายต่อหรือปล่อยเช่าแต่อาจจะผ่อนไม่ไหว เป็นการเสพติดประชานิยมการเงิน มีความเสี่ยงมากขึ้นธปท. จึงเข้ามาควบคุมซึ่งถือว่าเหมาะสม และไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้านที่ต้องการซื้ออยู่อาศัยจริงหรือผู้ซื้อบ้านหลังแรก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image