อนาคต “กระจกหกด้าน” จากปาก “สุชาดี มณีวงค์” ผู้สร้างตำนาน สารคดีทีวี(ไทย)

น้ำเสียงคุ้นหู นุ่ม ทุ้ม กังวาน ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำรายการ “กระจกหกด้าน” สารคดีที่ยืนหยัดคู่ทีวีไทยมากว่า 32 ปี

รายการที่ทำเรตติ้งถึง 4 เป็นเรตติ้งสูงที่สุดในกลุ่มรายการสารคดี ซึ่งยังไม่มีรายการใดทำลายสถิตินี้ลงได้

ไม่น่าเชื่อว่าเบื้องหลังความสำเร็จเกิดขึ้นจากผู้หญิงตัวเล็กๆที่ชื่อว่า สุชาดี มณีวงค์

เกิดวันที่ 29 มีนาคม 2489 มีบุตร 4 คน คือ จุฬาพิช มณีวงค์, ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, อลงค์กร จุฬารัตน์ และอรอรีย์ จุฬารัตน์

Advertisement

ชีวิตของเธอโลดแล่นบนเส้นทางอาชีพ “สื่อ” มายาวนาน ผ่านการเก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ตั้งแต่ยังเด็ก

“ด้วยความเป็นลูกคนกลางจากบรรดาพี่น้องผู้หญิง 4 คน มีความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก ต้องรักตัวเอง เเละค่อนข้างเข้มแข็งกว่าคนอื่น ทุกคนรู้สึกว่าเราต้องพึ่งตัวเองได้ เลยหัดคิดเอง ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เริ่มหาเงินได้เองตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ระหว่างไปโรงเรียนผ่านตลาดเทเวศร์ จะแวะซื้อดอกกุหลาบ ดอกละ 1 สลึง ซื้อ 3 บาท แถม 3 ดอก แล้วเอาไปขายดอกละ 50 สตางค์ พยายามมองสิ่งที่เราเห็นว่าอะไรเป็นเงินเป็นทองได้ ทำให้มีเงินใช้จ่ายเวลาอยากจะซื้ออะไรพิเศษเป็นของตัวเอง”

หลังจบ ม.4 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์(หลังจากนั้น 1 ปี ถึงเป็นระบบ มศ.) ก็ออกมาเรียนเทียบ ม.5-ม.6 ส่วน ม.7-ม.8 แม้สุชาดีมั่นใจว่าสอบได้แต่เพราะอายุไม่ถึงจึงหมดสิทธิสอบ เลยมาช่วยพ่อทำเสมียนสำนักงานทนายความพักใหญ่ ก็มีญาติมาชวนไปทำงานขายสบู่ ค่าแรงเดือนละ 600 บาท ไม่นานญาติจึงให้มาช่วยงานหาโฆษณาที่ “หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย”

Advertisement

เป็นการก้าวเท้าเข้าสู่วงการสื่อครั้งแรก

เริ่มต้นด้วยการหาโฆษณาย่อย บรรทัดละ 8 บาทต่อคอลัมน์นิ้ว จนกระทั่ง ไชยยงค์ ชวลิต เจ้าของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ลาออก

กลุ่มคนที่ทำอยู่ย้ายออกไปตั้งหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ทำให้พิมพ์ไทยขาดคน สุชาดีจึงได้มาเขียนคอลัมน์และทำข่าวสังคม ทำให้รู้จักคนเพิ่มมากขึ้น กระทั่งหนังสือพิมพ์ปิดกิจการ ก็ผันตัวมาทำงานด้านละคร

“ญาติที่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองทำละครอยู่ เลยไปช่วยทำคณะลักษมีการละคอน ช่วยขายโฆษณา เล่นละครวิทยุเป็นตัวประกอบ เเละทำละครทีวีช่อง 3 ในช่วงเกือบสุดท้ายของการบอกบท เพราะยุคต่อมาเป็นการท่องบทแล้ว ทำงานคล้ายกับผู้จัดละครในปัจจุบัน พอมีเงินก็ขยายไปจนกระทั่งมีออฟฟิศของตัวเอง”

ระหว่างนั้นมีงานพิเศษช่วยเพื่อนที่ทำโฆษณา เก็บเงินทุนหมุนเวียน หางานโฆษณา

ยังมีโอกาสได้เป็นผู้บริหารสถานีวิทยุ 2 แห่ง คือ อสมท. ความถี่ 95.0 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เอฟเอ็ม สตูดิโอ มัลติเพล็กซ์ และสถานีวิทยุรักษาดินแดน เอฟเอ็ม 96.0 เมกะเฮิรตซ์

“ตอนนั้นก็เหิมเกริมลองจัดรายการเพลงสากล มีดีเจรุ่นพี่ มีชัย วีระไวทยะ เป็นไอดอล (หัวเราะ)”

ขณะที่ทำงานอย่างตั้งใจ การใช้ชีวิตของสุชาดี เรียกได้ว่าเป็นผู้หญิงก๋ากั่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กระทั่งหักดิบเลิกทุกอย่างในวันเดียวตอนอายุ 30 ปี

“เป็นวันที่ได้ไหว้พระวันแรก ตอนนั้นได้พบหลวงปู่คำดี ปภาโส พระอริยเจ้าศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่มาผ่าตัดตาที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน ได้ขอกรรมฐานจากท่าน จากนั้นก็นั่งสมาธิ ถือศีลเรื่อยมา”

การเข้าหาทางธรรมในครั้งนั้นทำให้เกิดชื่อรายการสารคดี “กระจกหกด้าน” ขึ้น สุชาดีเล่าว่า ขณะเป็นผู้บริหารสถานีวิทยุ รด. 96.0 เมกะเฮิรตซ์ มีหัวหน้าสถานีเป็นคนนั่งวิปัสสนา ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้คุยเรื่องธรรมะ เรื่องนั่งสมาธิ บอกว่า สมเด็จฯสอนเรื่องทิศ 6 พอทำสารคดีเลยนำชื่อ “กระจกหกด้าน” มาใช้

สาเหตุที่อยากทำสารคดีเพราะเคยทำละครเรื่อง “จากแฟ้มประวัติอาชญากรรม” โดยเพื่อนที่เป็นผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมช่วยเจรจากับ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เพื่อขอแฟ้มคดีที่ปิดคดีแล้วมาทำละครเป็นตอนต่างๆ เช่น ตอนตี๋ใหญ่ ตอนกินฟรี

“จำได้ว่ามีตอนหนึ่งทำฉากปล้นธนาคารกรุงเทพ สาขาหัวลำโพง เราทำเรื่องขอตำรวจพื้นที่ แต่ไม่ได้ขอกองปราบฯ ถึงเวลารถตำรวจมาเต็มเลย (หัวเราะ)”

“เราเอา “กระจกหกด้าน” ไปเสนอช่อง 7 เขาอยากได้พอดี ตอนเเรกคิดไว้จะทำอาทิตย์ละ 1 วัน ก็ได้ทำ 7 วัน ช่วงนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีโครงการประหยัดไฟ ให้ปิดไฟตอน 18.00-20.00 น. รายการของเราอยู่ก่อนปิดไฟพอดี คนเลยดูรายการเยอะมาก”

สุชาดีเล่าย้อนถึงต้นกำเนิดสารคดีระดับตำนานด้วยรอยยิ้ม พร้อมตอบคำถาม

14336641821433664245l

-รายการกระจกหกด้านในช่วงแรกเป็นอย่างไร?

กระจกหกด้านช่วงแรกแฝงธรรมะหมดเลยเทปแรกชื่อตอน”สัจธรรมจากก้อนหิน”เป็นภาพน้ำไหลจากก้อนหินแหลมคม ถูกน้ำไหลเซาะจนกลมกลิ้ง ไปถ่ายทำที่วังตะไคร้ จ.นครนายก

ตอนหลังก็มาจัดระบบ วันจันทร์เป็นเรื่องวิชาการ วันอังคารสิ่งแวดล้อม วันพุธอาหารการกิน วันพฤหัสบดีท่องเที่ยวทัศนาจร วันศุกร์ความสวยความงาม วันเสาร์อาหารและโภชนาการ วันอาทิตย์ สุขอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ง่ายต่อการขายโฆษณา

เนื้อหาช่วงแรกเขียนเองและมีฟรีแลนซ์บ้าง แต่ช่วงหลังถอยลงมาพบกันครึ่งทาง ให้เด็กรุ่นใหม่เขียนงานบ้าง ซึ่งเขาก็มีแนวคิด มีอะไรน่าสนใจเยอะ ส่วนบรรณาธิการช่วงแรกก็มีหลายท่านมานั่ง แต่ระยะหลังไม่ค่อยมีใครอยากทำ เพราะเป็นงานยาก ละเอียด เลยลงมาทำเอง เรตติ้งก็เพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะเราชอบดูรายการสารคดีและภาพยนตร์ดีๆ จากต่างประเทศ

– เวลาทำงานดุหรือเนี้ยบมากไหม?

ไม่ดุ แต่เนี้ยบ แบบต้องใช้ไม้บรรทัดวัด เราคิดว่าคนทำงานให้ได้ดีต้องมีวินัย ขนาดขึ้นบนจอทีวีจะมีเครดิตมันจะมีเอียงอยู่จะถือไม้บรรทัดอันหนึ่งวัดเลย เป็นการฝึกให้เด็กละเอียด ถ้าเขาผ่านตรงนี้ไปเขาสบาย เราโชคดีที่ได้หัวกะทิมาหลายคนที่ไว้ใจได้ให้ช่วยดูเพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนตรวจงานเอง แต่พอตรวจ 4-5 ครั้ง พอครั้งที่ 7 ก็เซ็งแล้วก็ให้เด็กช่วยดูให้หน่อย

– เพลงประกอบรายการคุ้นหู มีที่มาอย่างไร?

ซื้อแผ่นเสียงมาจากอังกฤษ เราก็เอามาใช้เฉพาะที่ใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แล้วก็แต่งทำนองใหม่ โดยนุภาพ สวันตรัจฉ์ เพราะฉะนั้นเวลามีหลายคนมาขอซื้อจะบอกว่าเอาไปใช้เลยเพราะเราไม่ได้แต่งเอง

– ข้อมูลที่ใช้ในการเขียนและสารคดี?

มีพ่อแม่ชอบอ่านหนังสือเป็นตัวอย่าง ที่บ้านมีตู้หนังสือเต็มไปหมด นอกจากหนังสือกฎหมายยังมีหนังสือเก่าๆ เยอะ เลยติดนิสัยชอบอ่านทุกอย่าง แม้แต่ถุงกล้วยแขก แล้วเป็นคนอ่านเอาเรื่อง ถ้าติดตรงไหนก็จะไปค้นข้อมูลเพิ่ม เช่น ตรวจเช็กข้อมูลหรือตัวสะกดจากหนังสือของสำนักราชบัณฑิตฯ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะเอาเรื่องมาจากอินเตอร์เน็ต แต่เราจะเช็กจากหนังสือ ความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าในอินเตอร์เน็ตใครจะใส่อะไรมาก็ได้เลยไม่เอามาใช้

เวลาทำงานจะถามเด็กที่หาข้อมูลเสมอว่าเอาจากไหน ขอให้อ้างอิงมา ถ้าเอามาจากกูเกิลก็จะขอให้เปลี่ยน หรือไม่ก็ต้องหาหลักฐานข้อมูลมาเพิ่ม ทำให้งานเราผิดน้อย การทำงานแล้วไม่ผิดไม่มี แต่เราก็ต้องเอาผิดเป็นครู แม้กระทั่งสารคดีของเรา ใครบอกว่าเป็นสารคดียอดเยี่ยมให้คะแนนเต็มร้อย เราบอกไม่ต้อง เอา 99.99 พอ เพราะเรายังมีผิดนิดหน่อย ภาพก็ยังมีเพี้ยนอยู่บ้าง

– ความประทับใจในการทำรายการกระจกหกด้าน?

ชอบทุกเทปที่ทำออกมา แต่ประทับใจที่มีโอกาสได้ปิดทองหลังพระ ได้ทำเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เป็นเรื่องที่เราภูมิใจที่ได้เข้าไปในพระบรมมหาราชวังทุกแห่งในประเทศไทย ปราสาททุกปราสาทเเละภูมิใจที่สถาบันสำคัญหลายแห่งไว้วางใจให้เราเข้าไปถ่ายทำ เช่น ทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศ กระทรวงกลาโหม

– จุดเริ่มต้นของเสียงราคาแพง?

มาจากเสี่ยอู๊ด สิทธิกร บุญฉิม เซียนพระ มาให้เราโฆษณาขายพระ เลยบอกว่าที่นี่มีแต่ “ฟรี” กับ “แพง” เขาก็ให้คิดราคามา เราก็เลยคิดไปซึ่งค่อนข้างแพง แต่ก็ไม่รู้ว่าแพงที่สุดหรือเปล่า แล้วก็มีโฆษณาการท่องเที่ยวของ ททท. ราคา 6 หลัก

– ทำไมถึงพากย์เสียงด้วยเองตลอด?

จ้างคนอื่น แพง ถ้าเราพากย์เอง ฟรี

– คิดจะหาเงาเสียงหรือคนมาพากย์แทนในอนาคตไหม?

ก็อยากให้ลูกสาวลองมาพากย์เพราะเสียงเขาห้าว แต่เขาไม่เอา คิดว่าคงยังไม่ถึงเวลา ส่วนคนอื่นไม่ได้หาจริงจัง ก็มีมองอยู่บ้างตามสื่อต่างๆ แต่ยังไม่ถูกใจเพราะคนพากย์สารคดีต้องเป็นธรรมชาติ เสียงมีเอกลักษณ์ แต่การพูดเดี๋ยวนี้เป็นเหมือนการเล่นละคร มีเสียงเล็ก เสียงน้อย เสียงเหิน เสียงต่ำ ไม่เป็นตัวของตัวเอง

มีคนมาถามเหมือนกันว่าเสียงอย่างไรถึงเป็นเสียงสารคดี ก็ตอบไปว่าเป็นเสียงธรรมชาติ อย่าไปดัด

– ทำงานเยอะมาก มีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร?

1.ไม่มุสา การที่เรามีศีล 5 โดยเฉพาะข้อ 4 ทำให้เราได้อานิสงส์ คือเสียง จะไม่เหมือนใคร คือฟังแล้วไม่เพราะ จะแหบ ห้าว โหด ห้วน แต่คนจะจำเอกลักษณ์ได้

2.ไม่ดื่มน้ำเย็น น้ำแข็ง ไอศกรีมนานๆ ครั้ง ดื่มน้ำเยอะๆ กินวิตามินซีเป็นประจำ พออายุ 60 ก็ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี

นอกจากนี้ก็มีนั่งสมาธิวันละ 3 ครั้ง เดินมากๆ ขับรถเอง เป็นการออกกำลังกาย ทานอาหารดีครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงน้ำมัน ของหวานจัด โปรตีนสูง เน้นทานผัก ทานปลา ทำให้ไม่ค่อยป่วย มีโรคประจำตัวอย่างเดียวคือ ภูมิแพ้ผิวหนัง แต่ยังไม่เคยนอนโรงพยาบาลเลย นอกจากคลอดลูก

– มีช่วงเวลาที่ท้อ จนไม่อยากทำงานหรือเปล่า?

มี เราจะใช้คำว่า “ท้อ” แต่ไม่ “ถอย” สำหรับเราท้อมันเหมือนโรคชนิดหนึ่ง 2-3 วันเดียวก็หาย แล้วเราแก้ได้ด้วยการอย่าไปคิด อาบน้ำให้สบายใจ ดูทีวีสนุก ออกไปเดินข้างนอก ไปเย้าแหย่คน หรือออกไปนวดเซาน่าให้สบาย แต่พออายุย่าง 70 ก็ไม่ได้นวดแล้ว ผิวเริ่มบางแสบผิว (หัวเราะ)

เสร็จแล้วกลับมาทำงานต่อ และสั่งตัวเองว่าอย่าถอย เป็นคนสอนตัวเองเยอะมาก มีคติพจน์ประจำใจว่า ถ้าเราสอนตัวเองไม่ได้ แล้วเราจะไปสอนคนอื่นได้ยังไง ถ้าเราคุมตัวเองไม่ได้ แล้วเราจะคุมลูกน้องหลายสิบชีวิต ศิลปินทั้งนั้น และลูกอีก 4 คน แต่ละคนหัวรุนแรงทั้งนั้น ได้อย่างไร

– วางอนาคตกระจกหกด้านไว้อย่างไร?

ต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ เคยตั้งใจจะเลิกทำตั้งแต่อายุ 60 ปี, อายุ 65 ปี, อายุ 70 ปี แต่ก็เลิกไม่ได้ เลยไม่เลิก คือเป็นคนทำงานหนักตั้งแต่เด็ก คิดว่าอายุ 60 น่าจะเข้าวัดถือศีลให้ลูกทำแทน แต่ลูกชายคนโตเรายุให้เขาเรียนจนจบดอกเตอร์เป็นครู เป็นหัวหน้าภาควิชา งานเขาเยอะ ไม่ค่อยมาช่วยเรา ก็ต้องช่วยตัวเอง ส่วนลูกชายอีกคนเริ่มทำรายการเอง เพราะฉะนั้นคิดว่าเขาน่าจะทำรายการกระจกหกด้านได้ให้พี่ช่วยเรื่องบท เรื่องครีเอทีฟ แล้วน้องก็ผลิตไป ลูกสาวก็ให้ลงเสียงไป คิดว่าน่าจะทำได้ แต่ตอนนี้เขาคงเห็นเราทำอยู่เลยไม่ลงมาทำเต็มตัว

– นอกจากกระจกหกด้านแล้วทำอะไรอีกบ้าง?

กระจกหกด้านเป็นรายการที่กินอุดมการณ์ โฆษณาขายตามเรตติ้ง ตอนนี้ทีวีดิจิตอลเข้ามามีบทบาท ทำให้เค้กก้อนเดียวถูกหั่นเป็นหลายชิ้น แต่กระจกหกด้านไม่มีกำไร และเราจะคำนึงถึงกำไรไม่ได้ การรับจ้างทำสารคดีหรือผลิตรายการอื่นๆ เช่น “รูปสวยรวยรส” “ร้อยเรื่องเมืองไทย” เป็นส่วนที่ขายโฆษณาในราคาดีกว่ามาช่วยซัพพอร์ต

นอกจากทำรายการสารคดี ก็ยังเขียนหนังสือใน www.krajokhokdan.com คอลัมน์ คน “เริ่ม” แก่ ตอนแรกเขียนสนุกๆ เพราะตอนทำเว็บคอลัมน์มันน้อย ลูกสาวที่เป็นคนควบคุมเว็บไซต์ก็มาให้แม่เขียน ตอนนี้รวมเล่มเป็นหนังสือ 3 เล่ม แต่ไม่ได้วางขายตามท้องตลาด เอาไว้ขายเพื่อนฝูง แจกคู่ค้า เป็นของขวัญปีใหม่ ส่วนกำไรที่ได้จากหนังสือเราก็นำไปมอบให้มูลนิธิต่างๆ

– มองรายการสารคดีไทยตอนนี้ยังไง?

พัฒนาขึ้นมาก หลายรายการทำออกมาได้ดี คนที่ไม่พัฒนา คิดว่าสารคดีทำง่ายๆ มักจะอยู่ไม่ได้ มาไม่เท่าไหร่ก็จากไป ส่วนในภาพรวม สารคดีที่มีอยู่ในบ้านเรายังมีน้อย น่าจะมีเยอะกว่านี้ รัฐบาลต้องช่วยลดหรือปลอดภาษีเครื่องมือเครื่องใช้ อย่างรายการกระจกหกด้านที่อยู่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะช่อง 7 ช่วยค่าเวลาไม่แพง ถ้าเป็นที่อื่นจะราคาสูง

ส่วนคนที่คิดจะเริ่มทำสารคดี เนื้อหาควรทำแบบไม่หนักหนาสาหัส ทำแบบเบาๆ แต่ถ้าเป็นสารคดีที่มีข้อมูลจะต้องมีการอ้างอิงความถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นสารคดีท่องเที่ยว อาหาร ประวัติศาสตร์ สิ่งสำคัญคือ 1.ภาพต้องสวย 2.บทบรรยายกระชับ การใช้ภาษาต้องไม่ซ้ำซ้อน ไม่ซ้ำซาก ไม่เยิ่นเย้อ ไม่วิบัติ และไม่ล้ำสมัย เราจะไม่มีพูดไทยคำ อังกฤษคำ จะต้องแปลเป็นไทย 3.สำคัญคือ ไม่แสดงความคิดเห็นลงเด็ดขาด

– สารคดีจะเติบโตได้หรือไม่ในยุคที่มีอินเตอร์เน็ต?

เติบโตได้ แต่เป็นในลักษณะสั้นลง เพราะเดี๋ยวนี้อะไรก็ต้องเร็ว และจะต้องออกนอกกรอบมากขึ้น นำเสนอในสิ่งที่เขาไม่รู้ ให้เขาได้รู้เพิ่มเติม คนถึงจะดู เมืองไทยดูแล้วไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์หรือทีวีก็ยังจะอยู่ต่อไปได้อีก แต่อาจจะเสียกลุ่มเป้าหมายไปบางส่วนเท่านั้น กระจกหกด้านเองก็มีกระแสตอบกลับจากคนดูทางเว็บไซต์เข้ามาเยอะมากเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image