ร่างการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ข้อเสนอเพื่อการถกแถลงและพูดคุยในเบื้องต้น โดย : โคทม อารียา

หลักการทั่วไป

1.การปกครองท้องถิ่นจะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดต้องตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นคนส่วนใหญ่และส่วนน้อย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสันติสุข และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมด้วยความเคารพและความเห็นอกเห็นใจกัน

2.การปกครองย่อมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 1 ที่บัญญัติให้ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” โดยที่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะต้องไม่เป็นเหตุให้นำมาอ้างเพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกราชอาณาจักรแต่อย่างใด

3.บุคคลย่อมมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน โดยเฉพาะของคนกลุ่มน้อยจะต้องได้รับการคุ้มครอง การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลจะกระทำมิได้

Advertisement

เขตอำนาจ และการแบ่งอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ

4.จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ส่วน 4 อำเภอของสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีลักษณะทางสังคม ภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับในยะลาและปัตตานี ให้ย้ายไปอยู่ในจังหวัดดังกล่าว โดยให้มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ติดต่อกัน ทั้งนี้ ตามความเห็นของคนในพื้นที่ ต่อไปนี้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะหมายถึงจังหวัดนราธิวาส ยะลาที่มีส่วนต่อขยาย และปัตตานีที่มีส่วนต่อขยาย โดยใช้ชื่อย่อว่า จชต. และจังหวัดทั้งสามรวมกันเป็นเขตปกครองเขตหนึ่งที่ขอเรียกชื่อว่า ภูมิภาคที่ 10 โดยอาจมีการตั้งชื่อเรียก เช่น ภูมิภาคปาตานี ภูมิภาคชายแดนใต้ เป็นต้น

5.นอกเหนือจากการปกครองส่วนกลางซึ่งมีอำนาจหน้าที่ที่ครอบคลุมทั้งประเทศรวมทั้ง จชต. แล้ว การปกครองส่วนท้องถิ่นในยังแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่งคือระดับภูมิภาค ประกอบด้วย นราธิวาส ยะลา และปัตตานีรวมเป็นหนึ่งภูมิภาค ปัจจุบันมีการแบ่งส่วนงานราชการเป็น 9 ภูมิภาค จึงขอเรียกภูมิภาคนี้ว่าเป็นภูมิภาคที่ 10 ระดับที่สองคือระดับจังหวัด ซึ่งมีสามจังหวัด และระดับที่สามคือระดับเทศบาล แบ่งเป็น เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ซึ่งเป็นการรวมองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีพื้นที่ติดต่อกันเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์การจัดตั้งเทศบาลตำบล

Advertisement

6.การบริหารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของราชการส่วนกลาง ซึ่งสงวนไว้เป็นงานส่วนกลางโดยเฉพาะ ประกอบด้วย การศาล การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การคลัง การงบประมาณ การข่าวกรอง การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การป้องกันภัยพิบัติร้ายแรงรวมทั้งการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติร้ายแรง เป็นต้น

7.การบริหารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของการปกครองส่วนกลางร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาค ประกอบด้วย การบริหารงานบุคคลของรัฐ การเก็บภาษีและการจัดสรรเงินภาษีอากร การอุดมศึกษา การสาธารณสุข การตำรวจ เป็นต้น

8.การบริหารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภาค มีอาทิ การกำหนดนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมระดับภูมิภาค การบริหารโครงการขนาดใหญ่ ระดับภูมิภาค การบริหารงานบุคคลของรัฐในภูมิภาค การบริหารราชการในภูมิภาค ยกเว้นส่วนที่ขึ้นตรงต่อราชการส่วนกลาง และส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับเทศบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยดี

ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาค ที่ 10 จะรับผิดชอบงานที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยรับผิดชอบอยู่เดิม รวมทั้งรับโอนงาน เงิน และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค (เดิม) มาเป็นของตน โดยไม่รวมงานที่สงวนไว้ที่ส่วนกลางโดยเฉพาะ และไม่รวมงานที่ตกลงกันว่าจะเป็นของราชการส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับเทศบาล

9.การบริหารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด มีอาทิ การกำหนดนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมระดับจังหวัด การริเริ่มและการบริหารโครงการขนาดใหญ่ระดับจังหวัด การบริหารราชการในจังหวัดยกเว้นส่วนที่ขึ้นตรงต่อราชการส่วนกลาง และส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาคและระดับเทศบาล ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดจะรับผิดชอบงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เคยรับผิดชอบอยู่เดิม รวมทั้งรับโอนงาน เงิน และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค (เดิม) มาเป็นของตน โดยไม่รวมงานที่สงวนไว้ที่ส่วนกลางโดยเฉพาะ และไม่รวมงานที่ตกลงกันว่าจะเป็นของราชการส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาคและระดับเทศบาล

10.การบริหารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล มีอาทิ การกำหนดนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมระดับเทศบาล การริเริ่มและการบริหารโครงการระดับเทศบาล การบริหารราชการในเทศบาลยกเว้นส่วนที่ขึ้นตรงต่อราชการส่วนกลาง และส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลจะรับผิดชอบงานที่เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก่อนการรวมกันเป็นเทศบาลตำบล เคยรับผิดชอบอยู่เดิม รวมทั้งรับโอนงาน เงิน และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค (เดิม) มาเป็นของตน โดยไม่รวมงานที่สงวนไว้ที่ส่วนกลางโดยเฉพาะ และไม่รวมงานที่ตกลงกันว่าจะเป็นของราชการส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด

11.การแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาค ระดับจังหวัดและระดับเทศบาล พึงเป็นไปตามการตกลงกัน โดยมีส่วนกลางเป็นผู้ประสานให้เกิดการตกลงดังกล่าว โดยขอให้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนเมื่อเริ่มต้นการปฏิรูปครั้งนี้ และให้มีการปรับปรุงข้อตกลงดังกล่าวเป็นระยะๆ เช่น ทุกห้าปี

12.การตกลงแบ่งหน้าที่มีตัวอย่างดังนี้

-การบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการและบุคลากรในส่วนกลางและในระดับภูมิภาค (ใหม่) เป็นหน้าที่ขององค์กรที่อยู่ในส่วนกลาง การบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการและบุคลากรระดับจังหวัดและเทศบาลเป็นหน้าที่ขององค์กรในระดับภูมิภาค (ใหม่)

-การจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมในระดับชาติเป็นหน้าที่ขององค์กรที่อยู่ในส่วนกลาง ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมในระดับภูมิภาค จังหวัด และเทศบาล ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีได้เฉพาะที่เกี่ยวกับกิจการที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสำคัญ

-ให้เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการประถมศึกษา โดยให้โอนงาน เงิน และบุคลากรการประถมศึกษาที่เคยอยู่ในสังกัดอื่นให้แก่เทศบาลภายใน 5 ปี ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการมัธยมศึกษา โดยให้โอนงาน เงิน และบุคลากรการมัธยมศึกษาที่เคยอยู่ในสังกัดอื่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดภายใน 5 ปี ให้การจัดการอุดมศึกษาอยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาค ส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดเกณฑ์และมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ

-ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล ให้โรงพยาบาลระดับอำเภออยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด ส่วนโรงพยาบาลระดับจังหวัดและโรงพยาบาลเฉพาะทาง รวมทั้งโรงพยาบาลในสถานศึกษาให้อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาค

-ให้การตำรวจในภูมิภาค จังหวัด และเทศบาลอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาค การสอบสวนคดีพิเศษยังคงเป็นงานของส่วนกลาง การสอบสวนคดีที่มีโทษทางอาญาให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ให้ตำรวจในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินงานโดยมีอัยการคนหนึ่งเป็นหัวหน้าคณะสอบสวน

ผู้บริหาร (รวมถึงคณะผู้บริหาร) และสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

13.ผู้บริหาร (รวมถึงคณะผู้บริหาร) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตปกครองท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (ลำดับในบัญชีรายชื่อจะเป็นชายและหญิงสลับกัน) และมีสมาชิกสภาฯ อีก 3 คน ซึ่งเป็นชาวพุทธ (หรือผู้ถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามซึ่งนับถือโดยคนส่วนใหญ่) ที่ได้รับเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นชาวพุทธ (และผู้ถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม) และมีสมาชิกสภาฯ อีก 2 คน ที่ได้รับเลือกตั้งโดยอ้อมโดยองค์กรชุมชนที่จดทะเบียนไว้ และอยู่ในเขตปกครองท้องถิ่นนั้นๆ

14.ในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภาค ซึ่งขอใช้ชื่อเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ว่าราชการภาค (ซึ่งต่อไปอาจใช้ชื่อว่าผู้ว่าราชการภาคปาตานี หรือผู้ว่าราชการภูมิภาคชายแดนใต้ เป็นต้น) ให้ผู้สมัครทำการสมัครเป็นทีม ประกอบด้วยผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ หนึ่งคน และเป็นรองผู้ว่าฯ สามคน ซึ่งอย่างน้อยหนึ่งคนในสามคนนี้ต้องเป็นชาวพุทธ (หรือถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามซึ่งนับถือโดยคนส่วนใหญ่) เมื่อปิดการรับสมัครแล้ว ให้ส่งรายชื่อทีมผู้สมัครทั้งหมดไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อการคัดกรองให้เหลือเพียงสามทีม กรณีมีทีมผู้สมัครเพียงหนึ่งทีม ให้ถือว่าทีมดังกล่าวได้รับเลือกตั้ง และกรณีมีทีมผู้สมัครสองหรือสามทีม ให้ถือว่าทั้งหมดเป็นทีมผู้สมัครโดยไม่จำเป็นต้องมีการคัดกรอง ทีมผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากคือทีมที่ได้รับการเลือกตั้ง ในกรณีที่ตำแหน่งผู้ว่าราชการภาคว่างลง ให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ในกรณีที่ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการภาคสิ้นสุดลง ให้ผู้ว่าฯ เสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งแทนในจำนวนสองเท่าของตำแหน่งที่ว่างไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ ให้ครบสามคน

15.การสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด (ซึ่งขอใช้ชื่อเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด …) เป็นการเปิดรับสมัครทั่วไป โดยใช้เกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามคล้ายกับเกณฑ์สำหรับผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตในจังหวัดนั้นๆ ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด หรือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิที่บัตรเลือกตั้งเป็นบัตรดี หากในรอบแรกยังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดสองคนแรกเป็นผู้สมัครในรอบสองต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งรองผู้ว่าฯ ตามเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด แต่ต้องมีรองผู้ว่าฯ อย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งเป็นชาวพุทธหรือผู้ที่ถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม

16.ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล ซึ่งขอใช้ชื่อเรียกตำแหน่งนี้ว่านายกเทศมนตรีเทศบาล … เข้าดำรงตำแหน่งผ่านการเลือกตั้งโดยอ้อม โดยสมาชิกทั้งหมดของสภาเทศบาลนั้นๆ เป็นผู้เลือกตั้งให้สมาชิกคนหนึ่งเป็นนายกเทศมนตรี

และให้นายกเทศมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีตามเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด แต่ต้องมีรองนายกเทศมนตรีอย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งเป็นชาวพุทธหรือผู้ที่ถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม

การกำกับดูแลและการวินิจฉัยข้อพิพาท

17.ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดว่างานใดควรสงวนไว้เป็นงานส่วนกลางโดยเฉพาะ ทั้งนี้ อยู่ในกรอบที่จะกำหนดขึ้นตามกฎหมาย (ดูข้อ 6.) กรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแบ่งงานระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย โดยองค์กรส่วนท้องถิ่นเท่านั้นที่สามารถยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวได้ที่ศาลปกครอง

18.ส่วนกลางเป็นผู้ประสานงานให้เกิดข้อตกลงการแบ่งงานระหว่างการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ รวมทั้งประสานงานให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงเป็นระยะๆ เช่น ทุก 5 ปี กรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแบ่งงานระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย องค์กรส่วนท้องถิ่นเท่านั้นที่สามารถยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยได้ที่ศาลปกครอง กรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแบ่งงานระหว่างองค์กรส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย

19.ให้ศาลากลางจังหวัดอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้กำกับราชการจังหวัดซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย เดิมศาลากลางจังหวัดเคยอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้ที่ใช้ชื่อตำแหน่งว่าผู้ว่าราชการจังหวัด แต่จะขอเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ใหม่ ซึ่งก็คือหน้าที่กำกับให้การปฏิบัติหน้าที่ของทุกองค์กรในจังหวัดเป็นไปตามกฎหมาย หรือหน้าที่ regulator นั่นเอง อีกทั้งไม่มีหน้าที่ว่าราชการที่มีแต่เดิม กล่าวคือไม่มีหน้าที่ริเริ่มหรือบริหารโครงการเพื่อการพัฒนา หรือเพื่อการสวัสดิการสังคมแต่อย่างใด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้กำกับราชการฯ ไม่มีหน้าที่เป็น operator แต่อย่างใด

20.หน่วยงานซึ่งปฏิบัติงานที่ถือเป็นงานส่วนกลางในพื้นที่ อาจขึ้นตรงต่อกรมและกระทรวงในส่วนกลาง หรือส่วนกลางอาจให้ผู้กำกับราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลแทน

21.ผู้กำกับราชการจังหวัดยังเป็นผู้รักษาการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และผู้กำกับราชการจังหวัดสามารถแจ้งและเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานใดๆ ที่ผู้กำกับราชการฯ เห็นว่าขัดหรือแย้งกับกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่เมื่อได้รับแจ้ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหยุดการปฏิบัติงานนั้นจนกว่าจะแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอแนะ กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถยื่นคำร้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาย่อมผูกพันผู้กำกับราชการจังหวัด แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยต่อไปได้

22.ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นที่เป็นชาวพุทธหรือผู้ที่ถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม ทั้ง 3 คน เห็นว่าการกระทำหรือการละเว้นการกระทำใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ การไม่เคารพอัตลักษณ์ และการปิดกั้นการปฏิบัติทางศาสนาหรือวัฒนธรรมของชาวพุทธหรือของผู้ที่ถือศาสนาอื่นฯ ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นทั้ง 3 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาท้องถิ่น หรือต่อผู้บริหารท้องถิ่นในระดับของตนเพื่อให้หยุดการกระทำหรือการละเว้นการกระทำดังกล่าว

หากคำร้องไม่เป็นผลหรือถูกปฏิเสธ สมาชิกสภาท้องถิ่นทั้ง 3 คนอาจยื่นเรื่องเพื่อให้ผู้กำกับราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยนำความในข้อ 21. มาใช้โดยอนุโลม

ข้อเสนอการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษใน จชต.

23.ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการเตรียมการเพื่อการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการหรืออดีตข้าราชการประจำ และบุคคลที่มาจากภาคประชาสังคมในสัดส่วนใกล้เคียงกัน อีกทั้งให้มีกรรมการที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ในสัดส่วนประมาณสามในห้า และเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างกับรัฐมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อกรรมการด้วย

24.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอำนาจหน้าที่รับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จัดให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่มีส่วนร่วมในการถกแถลงในประเด็นต่างๆ รวมตลอดถึง หลักการทั่วไปของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เขตอำนาจ การแบ่งอำนาจหน้าที่ การได้มาซึ่งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น การกำกับดูแลและการวินิจฉัยข้อพิพาท รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการบริหารงานบุคคล เป็นต้น เมื่อได้รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางแล้วให้คณะกรรมการยกร่างกฎหมายในเรื่องนี้ และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกรอบหนึ่ง เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมาย จากนั้นจึงทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการ

25.กรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมการเตรียมการฯ ก็ขอให้ดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ จชต.อย่างกว้างขวาง และใช้ความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งอาจจะมีในเบื้องต้นนั้น เป็นพลังในการสร้างสรรค์สังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image