กนง.จับตาตั้งรบ.ใหม่ ห่วงลงทุนไม่ต่อเนื่อง-ค่าบาทผันผวน ชี้ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจเพียบ-ภัยแล้งส่อรุนแรง

รายงานข่างจากธนาคารแห่งประเทสไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 โดยกนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี โดยรายละเอียดส่วนหนึ่ง ว่า กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพ แม้จะเติบโตชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้างจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัว 3.8% ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 4.0% และในปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9% สำหรับโอกาสที่ประมาณการเศรษฐกิจจะต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนอาทิ ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น 2.การลงทุนภาคเอกชนที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานจาก 1.เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวน้อยกว่าคาดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน และ 2.อุปสงค์ในประเทศอาจมากกว่าคาดจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โครงการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) และการลงทุนภาคเอกชนที่อาจเกิดขึ้นเร็วภายหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายเร็วกว่าคาด รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มเติม

รายงานระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า กนง.เห็นว่ากิจกรรมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังสอดคล้องกับศักยภาพ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องเกือบทุกสาขาการผลิต รวมทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ซึ่งจะเป็นแรงส่งต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงการพีพีพี เพิ่มเติมจากการลงทุนเพื่อย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศมายังไทยที่บางส่วนเริ่มดำเนินการแล้ว

“กนง.เห็นควรให้ติดตามความต่อเนื่องของแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจกระทบความต่อเนื่องของโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน การนำเข้าสินค้าทุนและการปรับตัวของดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะข้างหน้า รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและต่อฐานะการคลังระยะปานกลาง รวมถึงให้ติดตามภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า” รายงานข่าว ระบุ

รายงานข่าวระบุอีกว่า ด้านตลาดการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุหลักจาก ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เบร็กซิทและการเมืองในกลุ่มประเทศยูโรที่อาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจกดดันราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาค สำหรับราคาสินทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมาเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลงเล็กน้อยขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตรไทย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ดัชนีค่าเงินปรับอ่อนค่าลงนอกจากนี้ราคาสินทรัพย์ไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนภายในประเทศหลังประกาศผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisement

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า กนง. ได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเห็นว่า ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้จำเป็นต้องรอให้ปัจจัยต่าง ๆ มีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศปรับสูงขึ้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสม สำหรับในระยะข้างหน้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (ดาต้า ดีเพนเด้นท์) โดยจะประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image