ฮับผลไม้ตะวันออกคืบ ปตท.จับมือก.อุต คาดชัดเจนไตรมาส3นี้

ปตท.จับมือก.อุตผุดอีเอฟซี อุ้มชาวสวนผลไม้-ปั้นไทยฮับส่งออก พร้อมลุยบี10หวังทำถาวรสร้างความยืดหยุ่นตลาด

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยภายหลังร่วมเปิดงานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว ทิวลิปบานที่ระยอง ครั้งที่ 8 ว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(อีเอฟซี) ปัจจุบันทาง ปตท.ได้ตั้งคณะทำงานร่วม ที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานในอีเอฟซี ในเรื่องของปริมาณการเก็บรักษาผลไม้ วิธีการเก็บ รวมถึงราคาค่าบริการที่จะต้องมาหารือร่วมกัน แต่ปัจจุบันยังรอการจัดสรรพื้นที่จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) อยู่ว่าจะให้ตั้งที่ไหน ในรูปแบบใด คาดว่าจะมีการสรุปเร็วๆ นี้ และความชัดเจนในการดำเนินงานจะเห็นเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562

“การทำงานร่วมในอีเอฟซีเราได้รับความเห็นชอบมาจากบอร์ดแล้ว ซึ่งเป็นการนำความเย็นที่ได้จากกระบวนการคัดแยกก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการเก็บรักษาพืชผลของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อทำเป็นศูนย์กลางตลาดผลไม้ ก่อนที่จะทำการส่งออกหรือขายในประเทศ เหมือนกับการนำมาใช้ในการจัดงานไม้เมืองหนาวที่เราดำเนินการมากว่าสิบปีแล้ว”นายชาญศิลป์กล่าว

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทาง ปตท. ได้มีการร่วมมือกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) เพื่อจัดตั้ง บริษัท มาบตาพุด แอร์ โปรดักส์ จำกัด (เอ็มเอพี) ที่ดำเนินการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากแอลเอ็นจี ในเชิงธุรกิจ ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ได้แก่ ไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท กำลังผลิต 450,000 ตันต่อปี จะผลิตเชิงพาณิชย์ปี 2564 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนนโยบายรัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

Advertisement

นายชาญศิลป์กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบ(ซีพีโอ) ของกระทรวงพลังงาน ที่มีแผนจะปรับเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล (บี 100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากปัจจุบันอยู่ที่7% หรือ บี7 เป็น 10% หรือ บี10 ว่า ปตท.พร้อมสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ขณะนี้ยังรอความชัดเจนจากกระทรวงพลังงาน ในการออกประกาศกำหนดคุณลักษณะของน้ำมันบี10 และโครงสร้างราคาที่ชัดเจน โดยการขยับส่วนผสมไบโอดีเซลจาก บี7 ที่มีความต้องการใช้ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์(บี100) ราว 1,400 ล้านลิตร เป็น บี 10 จะทำให้เกิดความต้องการใช้ บี 100 เพิ่มขึ้นราว 400-600 ล้านลิตร จะช่วยดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบและพยุงราคาปาล์มให้สูงขึ้นได้

นายชาญศิลป์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการประกาศใช้ไบโอดีเซลบี 10 ควรจัดทำเป็นมาตรการถาวร เพราะจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้น้ำมันปาล์มดิบ รับมือกับผลผลิตปาล์มที่จะออกสู่ตลาดในอนาคต เพราะหากช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมากจะส่งเสริมการใช้เป็นไบโอดีเซลบี10 ได้ แต่หากช่วงที่มีผลผลิตน้อยก็อาจปรับลดส่วนผสมเป็นไบโอดีเซล บี5 หรือ บี7 ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image