‘เมืองพัทยาเอ็มโอยูม.บูรพา’ พัฒนาศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ-แผนแม่บท4.0 รับสมาร์ทซิตี้-อีอีซี

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ รองศาสตราจารย์สมนึก ธีระกุลพิสุทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการความรู้ เทคโนโลยีเชิงพื้นที่ และประสบการณ์การบริหารงานด้วยศักยภาพของทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เพื่อเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นีโอพัทยา (NEO Pattaya) สู่การเป็นเมืองพัทยาสมาร์ทซิตี้ (Pattaya Smart City) ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคตะวันออก (ศทอภอ.) คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จะพัฒนาศูนย์ข้อมูลภูมิสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Geospatial Data Center) และการพัฒนาแผนแม่บทเมืองพัทยาสู่ยุคดิจิตอล 4.0 (Digital Transformation) เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเมืองพัทยา ในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม ด้านการบริหาร

นาย สนธยา กล่าวว่า ความร่วมมือนี้มีความสำคัญอย่างสูงต่ออนาคตการพัฒนาของเมืองพัทยา เนื่องจากพัทยายังขาดระบบจัดเก็บและประมวลข้อมูลข่าวสาร ที่จะรองรับการพัฒนาระดับนานาชาติที่จะเข้ามาในพัทยา ทั้งสมาร์ทซิตี้ และ อีอีซี.
“ยกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วมหลังฝนตกหนัก จะรู้เฉพาะเมื่อน้ำมาอยู่บนถนน ในบ้าน แต่เส้นทางจากต้นทางของน้ำ ความลาดชันเป็นอย่างไร จะดักน้ำได้ที่ไหนบ้าง เราไม่มีข้อมูลพอ และสิ่งเหล่านี้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยได้ ตลอดไปจนถึงการมีข้อมูลเพื่อวางแผน ทั้งสังคม สาธารณสุข และอื่น ๆอีกหลายด้าน”
การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ นอกจากจะทำให้พัทยาวางแผนการบริหารได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความพร้อมสำหรับการรองรับสมาร์ทซิตี้และ อีอีซี. ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ชลบุรีเป็นหนึ่งใน 26 เครือข่ายสมาร์ทซิตี้ต้นแบบของประชาคมอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองให้เต็มประสิทธิภาพ รองรับประชากรในอาเซียนที่จะเข้าสู่เมืองเพิ่มขึ้นอีก 90 ล้านคนในปี 2030
“ชลบุรีและพัทยา เป็นเป้าหมายหนึ่งที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้นเพราะเป็นศูนย์กลางของ อีอีซี. และถ้าไม่เตรียมความพร้อมและเพิ่มประสิทธิภาพ จะกลายเป็นความแออัด มลภาวะ และปัญหาทางสังคมต่าง ๆตามมา จนศักยภาพที่มีอยู่เสียหายไป”

ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร อาจารย์คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศของเมืองพัทยาจะสอดรับเป็นอย่างดีกับระบบสารสนเทศของอีอีซี.นอกจากนี้จะมีส่วนช่วยให้พัทยาสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนและธุรกิจ
“มีตัวอย่างที่ดี คือโครงการ Innovation District Bangsaen ที่ใช้ระบบสารสนเทศมาตรวจวัดความสุข ความทุกข์ของประชาชนในบางแสน ช่วยให้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แต่พัทยาจะเป็นมากกว่านั้น เพราะระบบสารสนเทศต้องช่วยรองรับการขยายตัวของ อีอีซี.ด้วย เพราะ อีอีซี.ทำให้พัทยามีศักยภาพอย่างไม่จำกัด แต่ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอย่างสูง”ดร.กฤษนัยน์ กล่าว

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาดร.อภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี. กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาบุคลากรรองรับอนาคตของ อีอีซี.มีความก้าวหน้าไปมาก ดังนั้นการมีระบบสารสนเทศที่ดีจะยิ่งทำให้พัทยามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
“เราเริ่มพัฒนาบุคลากรให้ตรงความต้องการของธุรกิจสาขาต่าง ๆโดยมีบริษัทระหว่างประเทศเข้ามาร่วมมือมากมาย แต่ถ้าภาพรวมของพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย พัทยาก็จะเสียโอกาสให้แก่เมืองอื่นอย่างน่าเสียดาย ฉะนั้นการพัฒนาภูมิสารสนเทศครั้งนี้เป็นการริเริ่มที่ดีมาก มีโอกาสดีที่จะพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของโลก ตามแนวทาง Neo Pattaya”ดร.อภิชาติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image