หวังแรงหนุนลงทุนเอง-เอฟดีไอดันเศรษฐกิจโต แม้การค้าโลกชะลอ-รัฐบาลใหม่ไร้เสถียรภาพ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเสวนาหัวข้อเศรษฐกิจไทยและกระแสเศรษฐกิจใหม่ ในงานการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 24 ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ว่า ปีนี้ทุกประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตที่ช้าลงทั้งหมด ทั้ง สหรัฐ จีน ยุโรป ซึ่งยังถือว่าเศรษฐกิจยังไม่ถอดถอยแต่มีอุปสรรคเข้ามาท้าทาย ด้านสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐและจีน ที่อยู่ระหว่างการเจรจา แต่น่าจะยังมีความยืดเยื้อต่อไป โดยเรื่องที่น่าจะตกลงกันได้ คือ จีนอาจจะซื้อสินค้าสหรัฐมากขึ้น เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าว น้ำมันและแก๊ส จีนมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่ม แก้ไขกฎหมายการลงทุนที่ห้ามรัฐบาลจีนบังคับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีผลในปี 2563 ทั้งนี้ จีนไม่ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า สหรัฐไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าไปที่ระดับ 25% และไม่ขยายภาษีไปยังสินค้าที่เหลือ เป็นต้น ด้านทิศทางเศรษฐกิจไทย หลังจากการเลือกตั้งอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแบ่งออกเป็นได้ 3 ได้แก่ ค่ายแรกกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน ค่ายที่สองกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันนำโดย พลังประชารัฐ และกลุ่มที่สามที่เป็นเสียงกลางยังไม่เลือกฝ่ายใด ซึ่งทั้งสองค่ายจะมาช้อปเสียงจากค่ายที่สาม ด้วยข้อเสนอทั้งตำแหน่ง และเสนอด้านอื่น ๆ เพื่อดึงมาจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ 

“หากค่ายแรกมีเสียงสส. ไม่พอจัดตั้งรัฐบาล ค่ายที่สองตั้งรัฐบาลได้แต่หน้าตานายกรัฐมนตรีก็จะเหมือนปัจจุบัน แต่เสียงรัฐบาลปริ่ม ๆ น้ำ การประชุมหรือโหวตเพื่อออกนโยบายในรัฐสภาต้องห้ามขาด ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามตาย ดังนั้นมีโอกาสที่จะมีงูเง่า และงูเง่าจะต้องช้อปเป็นครั้ง ๆ ไม่สามารถช้อปครั้งเดียวได้ ดังนั้น แม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้อาจจะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพสูงมาก อาจจะทำโครงการขนาดใหญ่อาจจะทำไม่ได้ หรือทำได้ยาก ทำได้ช้า ซึ่งภาวะการเมืองเช่นนี้การหวังพึ่งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก ขณะที่การค้าโลกชะลอ ผู้ส่งออกเตรียมตัวช่วยตัวเอง ด้วย อัตตาหิ อัตโนนาโถ หรือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่างไรกก็ตาม คาดหวังให้การเมืองเป็นไปตามกติกาที่ถูกต้อง ขณะนี้คาดเดาไม่ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ แต่หากตั้งรัฐบาลได้แล้ว ใช้กระบวนการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งก็สามารถทำได้ ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาอาจจะต้องใช้เงินงบประมาณลงไปในประชาชนฐานราก เพื่อเอาใจคะแนนเสียงก่อนยุบสภา“ นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมานั้น มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจขยายตัวที่ระดับ 3-4% ไม่มีความจำป็นต้องมีการกระตุ้ส มาตรการกระตุ้นควรทำเมื่อเศรษฐกิจติดลบ หรืออาจจะทำเพื่อกระตุ้นการสร้างรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ปัจจุบันทำได้ดี และควรมรการลงทุนด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรเพิ่มมากขึ้น ต้องเร่งสร้างคนเก่ง ส่วนการให้กระตุ้นฐานรากและผู้มีรายได้น้อยมองว่าเป็นเรื่องการให้สวัสดิการแต่ไม่อยากให้เกิดภาวะการเสพติดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลควรเก็บเงินงบประมาณไว้สำหรับให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาใช้สำหรับการดำเนินนโยบายตามที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้หาเสียงเอาไว้

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยธปท. ได้มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยโต 3.8% ปีนี้ และ 3.9% ปี 2563 โดยได้มีการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไว้แล้ว ซึ่งปีนี้ส่งออกไทยชะลอตามการค้าโลก ปัจจัยที่จะมาเป็นพระเอกเศรษฐกิจ คือ การลงทุนภาครัฐและการลงทุนเอกชน ที่สัดส่วนคิดเป็น 24% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ซึ่งหากทั้งสองปัจจัยขยายตัวได้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ใกล้เคียง 4% ได้ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีหรือไม่นั้น ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะพูดถึงต้องรอพิจารณาในระยะต่อไปก่อน เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงอยู่ที่ 1.75% ซึ่งการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีการพิจารณาตามข้อมูลและพัฒนาการเศรษฐกิจ(ดาต้าดีเพ้นท์เด้นท์) เพื่อประกอบการตัดสินใจในแต่ละครั้ง

Advertisement

นายทิตตินันทิ์กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเทียบกับพูมิภาค ค่าเงินบาทไทยผันผวนต่ำและแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศควรมีการป้องกันความเสี่ยงเพื่อรองรับหากมีความผันเกิดขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งคือ แรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ในอดีตจะพบว่า เอฟดีไทยที่มีลงทุนในอาเซียนมีการเข้ามาลงทุนในไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ไทยมีสถานการณ์การเมืองและความไม่สงบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอฟดีไอของไทยจึงค่อนข้างเกวี่ยงขึ้นลง และปัจจุบันพบว่าเอฟดีไอที่เข้ามาลงทุนในอาเซียนส่วนใหญ่ไปลงทุนในเวียดนามและแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ไทยลดสัดส่วนลงมาเป็นอันดับสองรองจากเวียดนาม คาดหวังว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะช่วยดึงดูดเอฟดีไอให้เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลก็จะต้องรอติดตามความชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image