สำรวจครัวเรือนไทย มีความกังวลเพิ่มต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นในไตรมาส2

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ระดับ 45.9 จากระดับ 45.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองของครัวเรือนในเรื่องรายได้และการมีงานทำปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 51.9 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากครัวเรือนที่ประกอบอาชีพค้าขายมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากกิจกรรมการหาเสียงช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ทำให้มีการใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ครัวเรือนไทยกลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ หลังราคาอาหารสดและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคมสอดคล้องไปกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 0.41%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอีกว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ 47.4 มาอยู่ที่ 47.0 สะท้อนว่า ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย(ไม่รวมหนี้สิน) ที่ครัวเรือนไทยมองว่า น่าจะมีการใช้จ่ายไปในกิจกรรมต่างๆเพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เช่น ทำบุญ ท่องเที่ยว เดินทางกลับภูมิลำเนา รวมไปถึงพบปะสังสรรค์กับเครือญาติและเพื่อนฝูง และเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่ครัวเรือนไทย มองว่า สินค้าหลายรายการน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงราคาพลังงานและบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศปรับตัวเร่งขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นค่าโดยสารประจำทางจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 เมษายน หลังจากเลื่อนระยะเวลาการปรับขึ้นค่าโดยสารออกไปอีก 3 เดือนจากเดือนมกราคม

สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าโดยสารประจำทางเป็นไปพร้อมๆ กับโครงการปฏิรูปรถเมล์ 269 สาย ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงจัดทำสำรวจความคิดเห็นของครัวเรือนต่อประเด็นที่ว่า อยากเห็นรถโดยสารสาธารณะของไทยเปลี่ยนแปลงในด้านใด พบว่า ครัวเรือนไทย 1 ใน 3 ที่ทำการสำรวจอยากให้ภาครัฐยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผู้โดยสารรถประจำทางเป็นอันดับแรก รองลงมา ครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยากให้การเดินรถโดยสารประจำทางมีตารางเวลาเดินรถที่แน่นอนและตรงเวลา ในขณะที่ครัวเรือนที่อาศัยในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดอยากให้ปรับค่าโดยสารสาธารณะให้ถูกลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image