เสียงของพลเมืองอยู่ที่ไหน โดย : วิภาพ คัญทัพ

ผู้เขียนไม่คุ้นเคยกับงานวิจัยทางรัฐศาสตร์ แต่ก็ทราบว่ามีงานวิจัยที่ทำการสำรวจตรวจสอบความคิดทางการเมืองของ
พลเมืองอยู่ไม่น้อย ทว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับการแสดงจุดยืนทางการเมืองของพลเมืองจะมีหรือไม่ ผู้เขียนไม่แน่ใจ
เพราะไม่ค่อยได้เห็นเผยแพร่ในวงกว้างบ่อยครั้งนัก

อย่างไรก็ตามมีเรื่องน่าสนใจว่า คนในสังคมมักพูดกันบ่อยๆ ว่า อย่าพูดเรื่องการเมืองหรือเรื่องศาสนาในหมู่มิตร เหตุผลคือจะทำให้ความสัมพันธ์เสียไป

การพูดเช่นนี้ ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรมาก แท้จริงสำคัญทีเดียว เพราะเท่ากับว่าปิดปากไม่ให้คนพูดถึงเรื่องการเมืองแม้แต่น้อย

ทั้งที่การเมืองเป็นเรื่องที่พลเมืองต้องพูดถึงมาก กระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้น พิจารณาปัญหาได้ง่ายขึ้น มากกว่าความคิดที่วนเวียนอยู่ในสมองตนเองเพียงคนเดียว ในทางพุทธศาสนาก็นิยมให้พระปุจฉา และวิสัชนากันเป็นประจำ ในข้อธรรมะเกี่ยวกับโลก การพูดการเมืองของพลเมืองก็เป็นเรื่องควรปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองมาก และยังแก้ไขกันไม่เรียบร้อย เช่น ประเทศไทย เป็นต้น

Advertisement

คำพูดที่ไม่ให้พูดการเมืองในหมู่มิตร นอกจากจะปิดปากไม่ให้คนพูดเรื่องทางการเมืองแล้ว ยังปิดปากไม่ให้พูดในหมู่มิตรเสียอีก ซึ่งผิดกันยกใหญ่

เพราะมิตร ควรพูดกันได้ทุกเรื่อง

แท้จริงมิตร คือผู้ที่ควรมีความใจกว้างต่อกัน เข้าอกเข้าใจกัน กล้าที่จะชี้ถูกชี้ผิด หรือกล้าที่จะยืนยันความถูกต้อง และกล้าที่จะยอมรับความผิดของตน

Advertisement

ถ้ามิตรไม่รู้สึกต่อกันเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าที่จะเรียกว่าเป็นมิตรอยู่ได้

การปกปิดบิดเบือน ไม่สามารถแสดงออกต่อกันอย่างจริงใจ จะเป็นมิตรกันได้อย่างไรเล่า และที่สำคัญต้องเข้าใจว่ามิตรไม่จำเป็นต้องเหมือนกันไปในทุกสิ่ง ในทางศาสนามิตรนับถือศาสนาต่างกันได้ ในทางการเมือง ความต่างก็ไม่ใช่จุดแตกหัก ความต่างเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายต้องหาข้อมูลเสริม แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนกันใหม่ ถ้าหากต่างกันมาก คือศรัทธาการเมืองต่างระบอบกัน ก็อาจเลือกไปอยู่ในสังคมที่มีการเมืองในแบบที่ตนเองชอบ ดังนั้นจึงต้องมีการเลือกกันก่อนว่าพลเมืองในสังคมส่วนใหญ่จะเอาระบบการปกครองแบบใด และกำหนดให้พลเมืองต้องเรียนรู้การเมืองให้ชัดว่าระบอบใดเป็นอย่างไร เช่น การอบรมสั่งสอนในระบบการศึกษาก็ต้องให้เยาวชนของบ้านเมืองได้เรียนรู้ถึงการเมืองการปกครองในระบอบต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก และระบุว่าประเทศเราเลือกการเมืองการปกครองแบบใดที่เห็นว่าเหมาะสม สมมุติว่าเลือกประชาธิปไตย ก็ต้องช่วยกันเสริมสังคมให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง มิใช่เพียงสร้างภาพลวงตาชาวโลก แล้วผู้นำทำตัวผืนระบบ ก่อให้เกิดความสับสนเสียเอง

การรับฟังความเห็นของกันและกันเป็นวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องวุ่นวาย แต่เป็นแนวทางไปสู่ความเจริญ การไม่ขัดแย้งจะเป็นเรื่องสร้างสรรค์ได้อย่างไร เพราะจะไม่เกิดอะไรใหม่ขึ้นมาได้ จากการว่าตามกันไป พลเมืองทุกคนต้องเข้าใจและมีจุดยืนร่วมกันเช่นนี้

สังคมที่ต้องการความเจริญ ย่อมมุ่งหมาย หรือให้ความสำคัญกับความคิดจากหลายหัว

“หลายหัว” ในที่นี้ หมายถึงหลายความคิด เมื่อช่วยกันแบ่งปันความคิดออกมาแล้ว สังคมก็สามารถช่วยกันเลือกสรรจนพบสิ่งที่เห็นว่าดีที่สุดได้

ที่จริงสังคมไทยมีสำนวนว่า “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว” ซึ่งเป็นสำนวนที่ยืนยันว่า ความเห็นต่างเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้ คนที่มีความเห็นต่างย่อมเป็นบุคคลที่สมควรจะได้รับการยกย่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความเห็นต่างนั้นเป็นความคิดที่ดี ใหม่ และเป็นประโยชน์แก่ทุกคนมากกว่าเก่า ตัวอย่างเช่น เมื่อผ่านการเลือกตั้งไปนานมาก พลเมืองอาจจะเห็นต่างได้ว่าไม่ควรนานมากนักที่จะทราบผลว่า ใครคือผู้แทนของพลเมือง ส่วนไหน อย่างไร เป็นต้น

วิภาพ คัญทัพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image