การเมืองเรื่องเพลิงไหม้ และอนาคตที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การเมืองกับเพลิงไหม้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอย่างมาก ยิ่งในช่วงเดือนสองเดือนนี้ มีทั้งเรื่องของกรณีฝุ่นควันที่เชียงใหม่ที่ระบุสาเหตุอย่างชัดเจนว่าเกิดจากการเผาป่า และเผาพื้นที่เกษตรนอกเมือง และกรณีของเพลิงไหม้ที่ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ (และมโน) กันไปต่างๆ นานา

ก่อนจะเข้ามาเรื่องบ้านเรา ผมอยากจะทำการสำรวจเรื่องของเพลิงไหม้กับการเมืองที่มีการพูดกันมากใน
โลกนี้ โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มประเด็นใหญ่ กลุ่มแรก คือเพลิงไหม้ในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะในกรณีของพื้นที่แคลิฟอร์เนีย และพื้นที่ในภาพรวมของสหรัฐอเมริกา และกรณีที่สองก็คือ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการเมืองกับเพลิงไหม้ในระดับเมืองของโลก

การเมืองกับเพลิงไหม้แบบไฟป่า – ดังที่ทราบกันดีว่า หลายปีที่ผ่านมานี้มีเหตุเพลิงไหม้ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและมลรัฐใกล้เคียงในภูมิภาคตะวันตกกันอยู่มาก และข้อถกเถียงใหญ่ในกรณีของแคลิฟอร์เนียก็คือประเด็นเรื่องของการค้นหาวิธีการจัดการกับไฟป่า

แต่เดิมนั้น การจัดการไฟป่าคือการดับเพลิง แต่ในสมัยใหม่นี้ แนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการเข้าใจความสัมพันธ์ของไฟ ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวิทยานั้นมีมากขึ้น คือแทนที่จะมองว่าไฟเป็นศัตรู หรือเป็นภัยที่ต้องจัดการลูกเดียว มาสู่แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการไฟป่าโดยใช้ไฟเองในการจัดการ คือเผาบางส่วนอย่างจงใจ ไม่ให้ลามไปสู่ส่วนอื่น (บ้างก็เรียกว่า prescribed fire) ซึ่งบ้านเราก็คงจะเริ่มเข้าใจในฐานะแนวกันไฟ แต่ของเขานั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

Advertisement

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในรายละเอียดนั้นการเผาเพื่อป้องกันไฟป่าก็ต้องมาคุยกันต่อว่าจะจัดการได้จริงไหม เพราะถ้าคุมไม่อยู่ก็จะลามเสียเอง ดังนั้นอาจจะต้องไปตัดแต่ง หรือทำให้ป่าโปร่งและไม่มีซากไม้แห้งก่อนเผา แต่เรื่องแบบนี้ก็เป็นเงื่อนไขให้มีคนแอบไปตัดไม้ไปขายก่อนเอาไหม

นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องของการที่ต้องตั้งคำถามว่า ในการป้องกันไฟที่ใช้งบประมาณมากมาย และการชดเชยซึ่งใช้งบมหาศาลนั้นใครจะต้องรับผิดชอบ บางครั้งไฟป่าก็เป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวิทยาไหม จำเป็นต้องป้องกันทุกไฟป่าไหม เพราะอ้างว่าระบบนิเวศเองก็ต้องการไฟป่าในบางระดับเช่นกัน ไม่งั้นพืชบางชนิดจะไม่งอกงาม นอกจากนี้ยังเริ่มมีกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติแคลิฟอร์เนียเองที่ออกมารณรงค์ปลุกจิตสำนึกพื้นที่ เช่น พื้นที่แบบ chaparral ซึ่งอาจจะแปลง่ายๆ ว่าเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าพุ่มเตี้ยๆ ซึ่งค่อนข้างแห้งแล้งและมีโอกาสไฟไหม้ง่าย แต่คนที่ออกมาอนุรักษ์พื้นที่แนวนี้ไว้เพราะมองว่ามันเป็นระบบนิเวศอีกแบบหนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นของเขา ไม่ควรมองแค่เป็นพื้นที่บริหารจัดการไฟป่าที่จะเผา หรือจำกัดพื้นที่เอาไว้

การเมืองกับเพลิงไหม้ในเมือง – ไฟไหม้ในเมืองนั้นเรามักจะมองมันว่าเป็นเรื่องของพื้นที่เฉพาะ หรือเป็น
แค่ไหม้จากทรัพย์สินส่วนตัว เช่น ตึกหนึ่ง หรือโรงงานแห่งหนึ่ง แล้วเราก็สนใจแค่มองว่าใครตาย เสียหาย
เท่าไหร่ หน่วยงานรับผิดชอบ และมีใครมาบัญชาการดับเพลิงไหม

แต่ในการศึกษาในโลกนั้น เขาตั้งคำถามเรื่องการเมืองกับเพลิงไหม้ในเมืองที่พ้นไปจากประเด็นเรื่องของการบริหารจัดการเท่านั้น แต่มองว่าเพลิงไหม้นั้นมีความเกี่ยวพันกับการเมือง ทั้งก่อนและหลังเพลิงไหม้เอง ทั้งระบบการป้องกัน และระบบการแก้ปัญหา รวมทั้งการนำเอาเรื่องเพลิงไหม้มาเป็นข้ออ้างทางการเมืองในการกระทำทางการเมืองต่างๆ หลังจากนั้น (บ้างก็เรียกว่าจะเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นวิกฤตกว่า)

ตัวอย่างแรกคือ เมื่อมีเพลิงไหม้ในกรุงโรมในช่วงความรุ่งเรืองของอาณาจักรโรมัน เมื่อ ค.ศ.64 นั้น มีการลือกันว่า องค์จักรพรรดิเองเป็นผู้ออกคำสั่งให้มีการจุดเพลิงในครั้งนั้น ซึ่งมีผลทำให้พื้นที่สองในสามของกรุงโรมนั้นมอดไหม้

นอกจากนี้ในการศึกษาเรื่องเพลิงไหม้ในเมือง สิ่งสำคัญที่พบก็คือระบบการบริหารจัดการเพลิงไหม้ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับระบบการเมืองและบริหารของเมืองนั้น และยิ่งระบบการป้องกันและจัดการเพลิงไหม้อยู่ในมือของระบบราชการเท่านั้น บางครั้งก็จะมีแบบแผนของการจัดการเพลิงไหม้ที่อาจจะสร้างผลสะเทือนทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจอีกมากมายตามมา

อย่างในกรณีของไฟไหม้ที่อาคาร Grenfell ในมหานครลอนดอนเมื่อสองปีที่ผ่านมานั้น แม้ว่าอาคารที่ไหม้จะมีอาคารเดียว แต่ก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวในพื้นที่ของชุมชนและภาคประชาชน และนำไปสู่การตั้งคำถามกับระบบการบริหารภัยพิบัติในเมืองรวมทั้งความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีต่อพื้นที่

หรือแม้กระทั่งในแคลิฟอร์เนียเองที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ไฟป่าแม้ว่าจะเกิดขึ้นในป่า แต่เรื่องใหญ่ก็คือความกังวลของคนที่อยู่ในเมืองที่กลัวว่าไฟป่าจะลามมาถึงเมือง หรือแม้กระทั่งการเผาแบบแนวกันไฟไม่ให้ไฟลามเข้าเมืองก็นำมาซึ่งฝุ่นควันให้กับคนในเมืองอยู่ดี และตัวผู้แทนราษฎรในแต่ละพื้นที่ก็ต้องพยายามในการสื่อสารกับประชาชนถึงทางเลือกที่ไม่ง่ายนักในการจัดการปัญหาไฟป่า คือถ้าไม่เผาเลย ก็จะไหม้ง่าย แต่ถ้าเผาประชาชนก็ยังกลัว

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์มีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น ในญี่ปุ่นเมื่อศตวรรษที่ 18 สมัยเอโดะ ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการป้องกันไฟจะเน้นไปที่ตัวปราสาทกับค่ายทหารมากกว่าพื้นที่อื่น และบางครั้งก็มองว่าการปล่อยให้เกิดเพลิงไหม้ของประชาชนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายทางศีลธรรม จะต้องถูกจัดการ อย่างมีกรณีที่มีการไล่จับคนต้องสงสัยเป็นร้อยคนหลังเพลิงไหม้ไปเผาซะในฐานะการลงโทษ ซึ่งคนเหล่านั้นส่วนใหญ่มักเป็นพวกที่ต่อต้านระบอบ และอาจจะเป็นพวกคนเร่ร่อน

ในยุคต่อมาในยุโรปและอเมริกา เมื่ออำนาจถูกผ่องถ่ายจากกษัตริย์ไปสู่ชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลาง เพลิงไหม้ในเมืองถูกมองว่าเป็นเรื่องของความเสี่ยงที่จะมีต่อการสะสมทุน และทรัพย์สินส่วนตัวของพวกเขา และทำให้การป้องกันเพลิงไหม้นั้นเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะที่จะต้องมีการลงทุนใช้จ่าย และมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น หัวฉีดดับเพลิง หรือการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบสมัยใหม่ ที่เน้นความมีระเบียบ และการมีมาตรฐานในการก่อสร้าง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมาสู่ความเชื่อมั่นในระบบเหตุผลและเทคโนโลยี-วิทยาศาสตร์ (นักวางผังเมืองบางคนบูชาการออกแบบเมืองทั้งเมืองให้สวยงาม ภายหลังจากเพลิงไหม้ใหญ่ ทั้งในเมืองชิคาโก หรือบอสตัน)

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงอีกมากมายในกรณีของการเมืองและการบริหารจัดการเพลิงไหม้ในเมือง อย่างกรณีของ ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 1906 ซึ่งไหม้ไปสามวันสามคืน และพื้นที่หนาแน่นร้อยละ 98 เสียหายหนักนั้น แม้ว่าบางคนอาจจะมองว่า ไฟไหม้นั้นไม่เลือกคนจนหรือคนรวย

แต่เอาเข้าจริงมีการพบว่าการดูแลและดับไฟแตกต่างกันไปในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนทั้งเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองด้วย เช่น ในพื้นที่ของคนจน การดับเพลิงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจของหน่วยงานรัฐ เพราะจะมีเรื่องของการไปป้องกันอาคารของรัฐบาล อาคารพาณิชย์ และบ้านของคนรวยจากการถูกปล้นและงัดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งทำให้บ้านของคนจนถูกเผาในอัตราที่เร็วกว่าพื้นที่ทางการบริหารและเศรษฐกิจ หรืออย่างในกรณีย่านของคนจีน หลักฐานก็คือรัฐบาลไม่ได้เข้าไปดับเพลิงอย่างเอาจริงเอาจังและทันท่วงที รวมทั้งมีหลักฐานว่ามีความพยายามเผาบางส่วนเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ไฟลามไปยังอาคารที่อยู่อาศัยของคนรวยที่อยู่ไม่ไกลจากนั้นนัก

ในกรณีของไนจีเรียช่วงทศวรรษที่ 1990-2000 นั้น เมืองหลวงของเขาเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความตึงเครียดจากความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน จากช่องว่างทางรายได้และอำนาจเนื่องจากการพึ่งพาธุรกิจน้ำมันในการส่งออก เมื่อมีเพลิงไหม้ในเมือง เช่น เกิดจากการที่ค่ายทหารมีคลังอาวุธอยู่ในเมือง เมื่อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหมคลังอาวุธ แล้วประชาชนที่อาศัยใกล้เคียงไม่ได้รับการดูแลและชดเชยเพียงพอ ความเชื่อมั่นและความชอบธรรมของประชาชนต่อรัฐก็ลดลง และความขัดแย้งของคนจนกับคนรวยในเมืองก็มีมากขึ้น แม้กระทั่งการที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าเขาได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันไหมจากหน่วยงานดับเพลิง

กรณีของอาร์เจนตินา มีเพลิงไหม้ใหญ่ในคอนเสิร์ตที่มหานครบัวโนสไอเรส และพบว่าเหตุที่มีคนตายมาจากการสูดควันเพราะประตูอาคารส่วนใหญ่ถูกล็อกเอาไว้เพื่อไม่ให้มีคนแอบเข้าไปฟังฟรีๆ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในช่วงที่อาร์เจนตินาเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย ในงานศพของผู้เสียชีวิตนำไปสู่การประท้วงใหญ่และปะทะกับตำรวจปราบจราจล เนื่องด้วยเกิดการตั้งคำถามกับประเด็นเรื่องการคอร์รัปชั่น การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ท้ายที่สุดนายกเทศมนตรีของนครนั้นถูกถอดถอน และเจ้าของสถานที่ถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินจำคุก รวมทั้งเจ้าหน้าที่โยธาของเมืองก็ถูกจำคุก รวมทั้งวงดนตรีที่เล่นอะไรแผลงๆ บนเวที เช่น จุดพลุ ก็ติดคุก

ทั้งหมดที่นำเสนอนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าเรื่องของการเมืองกับเพลิงไหม้นั้นเป็นเรื่องที่มากกว่าเรื่องของรายงานข่าว เรื่องของปัญหาควันและฝุ่นในเชียงใหม่และภาคเหนือเป็นปัญหาใหญ่ และในโลกนั้นอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจปัญหาของพื้นที่ที่มากกว่าตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีพื้นที่เกษตรโดยรอบ และพื้นที่เกษตรก็เป็นพื้นที่ที่ต่อระหว่างเมืองกับพื้นที่ป่า การนำเสนอจุดความร้อนและความพยายามของรัฐในการสั่งการจากโครงสร้างการบริหารแบบภูมิภาค อาจไม่สามารถทำให้เราเข้าใจระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปของภาคเหนือ และแรงตึงเครียดของภาคเกษตรและผู้คนในภาคเกษตรที่อยู่รายล้อมเมืองมากนัก ที่ผ่านมาการเสนอข่าวเน้นไปที่จุดความร้อนทั้งในพื้นที่และจากประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการของรัฐแบบห้ามและสั่งการ และความเดือดร้อนของคนในเมือง แม้ว่านักวิชาการจำนวนหนึ่งในเชียงใหม่นั้นพยายามชี้ให้เห็นประเด็นที่ซับซ้อนในพื้นที่ และแรงตึงเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตจากการเกษตรไปแล้วก็ตาม

แต่ในเรื่องของการให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนในการแก้ปัญหาในพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมานั้นจะไม่ค่อยเป็นที่สนใจในหน้าสื่อมากนัก

ส่วนในกรณีของเพลิงไหม้ในเมืองอย่างกรุงเทพ มหานครนั้น ผมคิดว่ายังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากที่น่าจะศึกษาต่อ ทั้งวาทกรรมเรื่องเผาบ้านเผาเมือง และระบบการป้องกันและดับเพลิงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมักไม่ค่อยมีการพูดถึงอย่างเป็นระบบ จะมีก็เพียงเมื่อมีปัญหาเรื่องของเพลิงไหม้ในแต่ละครั้งเท่านั้น อาทิ การตั้งคำถามว่าตึกที่สูงขนาดที่อนุญาตให้สร้างนั้นเมืองมีศักยภาพในการดับเพลิงไหม หรือการเข้าถึงพื้นที่ในการดับเพลิงมีแค่ไหนในแต่ละส่วน

(บางส่วนจาก J. Shenkar. 2017. The Politics of Fire: From Ancient Rome and San Francisco to Grenfell Tower. The Guardian. 4 July, California Chaparral Institute Website, S.F. Arno and S. Allison-Bunnell. 2002. Flames in Our Forests: Disaster or Renewal. Washington, DC: Island Press, G. Bankoff, U. Lubken and J. Sand. Eds. 2012. Flammable Cities: Urban Conflagration and the Making of the Modern World. Medison: Universoty of Wisconsin Press. และ C. Profita. 2018. When It Comes to Wildfire, Politics Lag Behind Science. Oregon Public Broadcast. 8 August)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image