ธพว.เผยปล่อยกู้ไตรมาสแรกแล้ว 1 หมื่นล. ลุยแก้หนี้เสียให้เหลือ 10%

นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี ดี แบงก์ เปิดเผยว่า ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 รวมกว่า 10,000 ล้านบาทเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้และมั่นใจว่าภายในปีนี้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 60,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำถูกใจผู้ประกอบการรายย่อย เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่อนนาน 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บุคคลธรรมดา 3 ปีแรก เพียง 0.417% ต่อเดือน ปี 4-7 อัตรา MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท และหากเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก 3ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปี 4-7 อัตรา MLRต่อปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันได้ ควบคู่กระบวนการให้บริการเข้าถึงง่าย สะดวก สามารถยื่นกู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ผ่านแอปพลิเคชัน เอสเอ็มอี ดี แบงก์ และ หน่วยรถม้าเติมทุน ซึ่งเป็นบริการเคลื่อนที่พบผู้ประกอบการถึงสถานประกอบการ สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ในเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

“จากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประกอบการแผนการตลาดเชิงรุกที่เตรียมไว้ มั่นใจว่า ปีนี้จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ไว้วาง 60,000 ล้านบาท รวมถึง การมอบ 3 เติม จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่เอสเอ็มอีไทยได้ เพราะลูกค้า ธพว. นอกจากได้รับเงินทุนแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ และความมั่นคงในชีวิตด้วย” นายพงชาญกล่าว

นายพงชาญกล่าวต่อว่า ธนาคารมุ่งยกระดับการทำงานสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งเพื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็กเต็มรูปแบบ โดยจัดงบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท สร้างระบบ core banking ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน มาพัฒนาระบบ ซึ่งจะใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำธุรกรรมเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยเริ่มพัฒนาระบบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์แบบภายใน 2 ปี ซึ่งการการยกระดับธนาคารสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยนอกระบบที่มีอยู่จำนวนกว่า 3 ล้านบาท สามารถเข้าถึงบริการของเอสเอ็มอี ดี แบงก์ได้ทั่วถึง และสะดวกยิ่งขึ้น ช่วยให้เอสเอ็มอีคนตัวเล็กเพิ่มขีดความสามารถ ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน นำสังคมไทยอยู่ดีมีสุข เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายพงชาญกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ธนาคารเร่งบริหารจัดการหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยให้บริษัทติดตามหนี้มืออาชีพ มาทำหน้าที่ติดตามหนี้ในรายลูกค้าที่ไม่ให้ความร่วมมือกับธนาคาร และเป็นหนี้เสียมายาวนาน โดยใช้วิธีแบ่งผลกำไรกัน ช่วยให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ รวมถึง ทยอยขายทอดตลาดหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งหยุดดำเนินกิจการ เลิกกิจการ ประวิงเวลาการชำระหนี้ หรือไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขหนี้ ส่วนมากเป็นรายใหญ่ มีดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงสี สนามกอล์ฟ เป็นต้น ซึ่งการขายหนี้เสียออกไปนั้น จะก่อประโยชน์ต่อธนาคาร สามารถระดมเงินทุน เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อคุณภาพดีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้ รวมถึง ช่วยลดหนี้เสีย ซึ่งภายในปีนี้ คาดว่า จะเหลือไม่เกิน 10% ช่วยให้สถานะทางการเงินของธนาคาร มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก

Advertisement

นายพงชาญกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ธนาคารเตรียมแผนออกพันธบัตรต่อเนื่องในปี 2562 เพื่อระดมเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อ โดยจะออกครั้งละ 5,000 ล้านบาท จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท เชื่อว่า จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับธนาคารได้รับจัดอับดับเรตติ้งองค์กร จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระดับ AAA ถือเป็นระดับสูงสุดเท่ากับเรตติ้งของรัฐบาลไทย

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image