‘แพทยสภา’ ชงห้องฉุกเฉินที่ปลอดคนเมา เตือนใช้ความรุนแรงใน รพ.โทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

เมื่อวันที่ 17 เมษายน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยกรณีมีกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มชายฉกรรจ์ ทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกคน มีหน้าที่ดูแลประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย จึงอยากขอให้ประชาชนร่วมกันดูแลคุ้มครองให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย เพื่อที่จะได้ไปดูแลประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยต่อไป อย่างไรก็ตาม แพทยสภาอยากเรียกร้อง คือ 1.อยากให้สังคมร่วมกันปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้คนเหล่านี้มีความปลอดภัย ไปรักษาคนไข้ให้ได้รับความปลอดภัยต่อไปได้ 2.ขอให้ชุมชน ทั้งกลุ่มอาสา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยกันดูแลปกป้องห้องฉุกเฉิน เพราะขนาดร้านทองยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแล ดังนั้น จึงอยากให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือกลุ่มอาสา ร่วมกันดูแลปกป้องโรงพยาบาลด้วย ซึ่งขณะนี้ก็มีบางพื้นที่ ที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีกลุ่มอาสา และเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วกันสอดส่องดูแล 3.ที่ผ่านมา พบว่าการทะเลาะวิวาทส่วนใหญ่มักเกิดจากกลุ่มคนที่มีอาการมึนเมา แพทยสภาจึงเห็นว่าไม่ควรให้คนเมาเข้ามาในเขตห้องฉุกเฉิน ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ หรือญาติผู้ป่วยเท่านั้น และ 4.กำหนดให้ห้องฉุกเฉินเป็นเขตปลอดคนเมาสุรา เนื่องจากปกติพื้นที่ของโรงพยาบาล จะห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว

พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการที่ได้ร่วมหารือกับทางอัยการ พบว่า การใช้ความรุนแรงในโรงพยาบาลถือเป็นคดีทางอาญา ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดี โดยโรงพยาบาลถือเป็นสถานที่สาธารณะ หากเข้าไปก่อความรุนแรง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาห้าม หรือเชิญออกจากโรงพยาบาล แต่ยังไม่ปฏิบัติตาม มีการทำร้ายร่างกาย หรืออุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในโรงพยาบาล หากเป็นเวลาปกติจะมีโทษจำคุก 1 ปี แต่หากมีการทะเลาะวิวาทในยามวิกาล ช่วงเวลาเกินเที่ยงคืน จะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้ทางอัยการกำลังดำเนินการอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน และโรงพยาบาลมาก หากพบจะลงโทษอย่างหนัก และไม่ยอมความด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image